SRAN จับมือพันธมิตรลุยธุรกิจปกป้องภัยคุกคามระบบไอทีแบบเอาต์ซอร์ส ด้วยโซลูชันที่มีกระบวนการทำงาน 3 ขั้นตอน พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและพิสูจน์หลักฐานทางไอที หลังเห็นตลาดต่างประเทศแนวโน้มโต
นายนรัตถ์ สาระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด ผู้พัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามระบบไอทีภายใต้แบรนด์ 'SRAN' กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะนำเสนอบริการรักษาความปลอดภัยระบบไอทีแบบครบวงจร โดยผนวกเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของ SRAN และของพันธมิตรอย่างควอลีส อิงค์เข้าด้วยกันรวมถึงผู้เชี่ยวชาญอย่างแลนซ์ มุลเลอร์ อดีตเอฟบีไอที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและการพิสูจน์หลักฐานทางระบบไอที เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคไทยที่ต้องการดูแลจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือด้านเทคนิคเชิงลึก
'การเช็กหรือประเมินว่าระบบไอทีเกิดความเสี่ยงตรงไหน เหมือนคนเราที่ต้องตรวจสุขภาพเพื่อให้รู้ว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วคอยระวังไม่ให้ข้อบกพร่องมาทำร้ายเรา ไอทีก็เหมือนกันต้องรู้ว่าตรงไหนมีช่องโหว่ก็ต้องมีระบบเข้ามาคอยเฝ้าระวัง'
อุปมาอุปไมยเหมือนการตรวจสุขภาพคนแล้วรู้ว่าเป็นโรคอะไร ระบบคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกันเพราะไม่มีระบบป้องกันอะไรที่ปลอดภัย 100% แต่ถ้ามีการเผ้าระวังจะทำให้รู้ได้ว่าใครเป็นผู้คุกคาม และการคุกคามมาจากที่ไหน อย่างปีที่ผ่านมาการคุกคามจากบุคลากรในองค์กรมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
จากสิ่งที่เกิดขึ้น SRAN จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามระบบไอที ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าวหากองค์กรเปลี่ยนจากการจัดหาผลิตภัณฑ์และจ้างพนักงานประจำที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงโดยเปลี่ยนเป็นจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มาพร้อมเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
“การดำเนินธุรกิจขององค์กรต่างๆ ก็เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่ไม่มีระบบเฝ้าระวังที่ดีจะได้ดอกได้ผลประมาณ 37% ทั้งที่คอยใส่ปุ๋ยพรวนดิน เพราะจะมีแมลงมาคอยกัดกินและถูกคนขโมย คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกันมีช่องโหว่ แต่หากมีการเอาต์ซอร์สอย่างต่างประเทศที่มีการเฝ้าระวังระบบและสามารถสืบค้นไปถึงต้นตอการคุกคามได้ทำให้ธุรกิจโตถึง 98%”
สำหรับโซลูชันที่นำเสนอแบบเอาต์ซอร์สประกอบด้วยการทำงาน 3 ขั้นตอนคือ 1.การบริหารจัดการความเสี่ยงของระบบไอทีด้วย SRAN Vulnerability Assessment ที่ผสมผสานเทคโนโลยีของ SRAN เข้ากับควอลีส 2.การเฝ้าระวังและป้องกันการโจมตีระบบไอทีด้วยทีมงานมืออาชีพ 3.การแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ด้วยบริการใหม่ SRAN Cyber Investigation
ซึ่งจะตรวจสอบวิเคราะห์และรวบรวมหลักฐานเพื่อหาผู้กระทำผิดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย ฮาร์ดดิสก์ รวมถึงอุปกรณ์พกพาอิเล็กทรอนิกส์
'ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่คลาวด์ คอมพิวติ้ง ผลิตภัณฑ์ของควอลีสก็เป็นซอร์ฟแวร์ เซอร์วิสเหมือนคลาวด์ที่อยู่ตรงไหนก็สามารถให้บริการได้' นายฟิลิป อัลคอย กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ควอลีส อิงค์ กล่าวเสริม
Company Related Link :
SRAN
ที่มา: manager.co.th