สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Sipa เป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT ซึ่งในขณะนี้ “Sipa” กำลังมีบทบาทในวงการซอฟต์แวร์ เฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดการซอร์ฟแวร์ผิดกฎหมาย หรือ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
พิพัฒน์ ทองผดุงโรจน์ ที่ปรึกษากฎหมายของ Sipa ผู้หนึ่งที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของ Sipa ด้านการจัดการและดูแลด้านกฎหมายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเขาเคยมีบทบาทหน้าที่สำคัญของประเทศอีกด้วยที่ผ่านมา คือ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ 1 ในจำนวน 35 คน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันพุธที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2544
ด้วยความที่เขานั้นมีความสามารถทางด้านกฎหมาย จึงเป็นที่ยอมรับให้เข้ามาทำหน้าที่ทางกฎหมายเฉพาะด้านดังกล่าวให้กับ Sipa ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในส่วนผลงานการเขียนของพิพัฒน์ยังเป็นอีกหนึ่งอย่างที่สนับสนุนบทบาทในทางอาชีพนักกฎหมาย และเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจเช่นเดียวกัน ซึ่งผลงานการเขียนของเขาจึงเป็นงานเขียนในเชิงกฎหมาย อาทิ หนังสือ “กฎหมายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม”
ในฐานะที่พิพัฒน์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ Sipa เขากล่าวว่า ในปัจจุบันภารกิจของ Sipa ก็คือ สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้น มีภารกิจที่สำคัญ คือ จะดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ต่างทราบกันดีว่าผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยความที่การจะเอาซอฟต์แวร์ไปกู้เงินกับธนาคารมักจะมีปัญหาตามมา เพราะการขอทุนในเรื่องซอฟต์แวร์นั้นสถาบันการเงินทั้งหลายมองว่าเป็นของนามธรรม ไม่มีความชัดเจน ฉะนั้น Sipa จึงได้มีการออกระเบียบข้อบังคับ ว่าด้วยการให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ว่าด้วยการร่วมทุนกับผู้ประกอบการ และว่าด้วยการร่วมโครงการ การที่ออกเป็นกฎระเบียบขึ้นมา เพื่อเอื้อต่อการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์
“ในปีนี้มีการร่วมทุน 4-5 บริษัทแล้ว เช่น การร่วมทุนกับที่พัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบการบริหารงานบุคคล อาทิ การร่วมทุนกับ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น ผู้สร้างหนังแอนิเมชั่นเรื่องปังปอนด์ อีกทั้งยังมีการร่วมทุนในโครงการร่วมกับ บริษัท กันตนา จำกัด ในการที่จะนำความรู้และประสบการณ์ในการทำหนังเรื่อง “ก้านกล้วย 2” มาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ ดังนั้น Sipa จึงมีระเบียบและข้อบังคับที่จะให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่ง”
นอกจากนี้ ภารกิจในการส่งเสริมเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นภารกิจหลักของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย Sipa จะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ใช้ซอฟต์แวร์ เพื่อไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น Sipa ดำเนินการอย่างเต็มที่ไปถึงความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
เขาบอกว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มีความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรวมของประเทศ มีตัวเลขที่ออกมาอยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท ฉะนั้น จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ที่มา: telecomjournal.net