ปัญหาฟันผุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีอาการฟันผุมาก น้อยแตกต่างกัน สาเหตุของฟันผุมักเกิดจากการละเลยในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เมื่อพบปัญหาแล้วไม่ยอมไปพบหมอฟันเพื่อรักษา แต่กลับปล่อยละเลยจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่แล้วค่อยไปรักษา เมื่อถึงตอนนั้นแล้วฟันที่ผุอาจจะผุลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน และรากฟันจนอาจจะไปถึงขั้นสูญเสียฟันก็ได้
โรคฟันผุ คืออะไร
โรคฟันผุ คือ อาการของฟันที่เนื้อฟันถูกทำลาย ซึ่งเป็นการทำลายตั้งแต่ผิวฟันลึกไปยังเนื้อเยื่อจนถึงโพรงประสาทฟัน หากไม่ได้รับการรักษาจะลุกลาม และลึกขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากจะมีความเจ็บปวดแล้ว ก็อาจต้องสูญเสียฟันไปเลยก็ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุ มีดังต่อไปนี้
การรับประทานอาหาร : อาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฟันผุ เพราะน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร ขนมหวาน ล้วนเป็นอาหารโปรดของแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อเกิดการสะสมมากๆ แบคทีเรียในช่องปากและน้ำตาล จะทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ ในลักษณะคราบพลัค ที่เกาะอยู่ตามบริเวณผิวฟัน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดคราบหินปูน โรคฟันผุ และโรคเหงือกได้
แบคทีเรียที่เกาะบนผิวฟัน : นอกจากแบคทีเรียจะทำให้เกิดคราบพลัคแล้ว แบคทีเรียยังเป็นตัวร้ายที่ไปย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และสร้างกรด เช่น กรดแลคติก ออกมา ทำให้ในช่องปากเกิดความเป็นกรด ซึ่งกรดนี้จะไปละลายแร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน ทำให้ผิวเคลือบฟันกลายเป็นสีน้ำตาลดำ และแตกออกเป็นรู
การสูญเสียแร่ธาตุจากสภาวะกรดในช่องปาก : การที่เชื้อแบคทีเรียย่อยสลายเศษอาหาร และทำให้เกิดกรดในช่องปาก กรดจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับผิวเคลือบฟันด้านนอกและเนื้อฟัน โดยการสลายแร่ธาตุที่เป็นโครงสร้างของฟัน ทำให้ฟันผุกร่อน ซึ่งการสลายแร่ธาตุของฟัน จะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน จนกลายเป็นการเริ่มต้นของโรคฟันผุนั่นเอง
อาการฟันผุเป็นอย่างไร
มีอาการปวดฟัน
มีอาการเสียวฟันมากขึ้น ตอนที่ดื่ม / รับประทานอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด
มีอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยครั้ง
มีฟันแตกเป็นรู / ช่อง
มีจุดสีดำที่ฟัน
ฟันผุทะลุโพรงประสาท
อาการที่เกิดจากฟันผุจะมีความรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของฟันผุ หากปล่อยไว้นาน นอกจากจะสูญเสียฟันแท้แล้ว อาจส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์ตามมา เช่น โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม ไปจนถึงการติดเชื้อเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดได้ เพราะฉะนั้นแล้วโรคฟันผุเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
อาการฟันผุ มีกี่ระยะ
อาการของโรคฟันผุนั้น จะมีทั้งหมด 4 ระยะ โดยแต่ละระยะจะมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ฟันผุ ระยะที่ 1
ฟันผุระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้น บริเวณฟันจะมี สีเทา สีดำ หรือ สีขาวขุ่น บ่งบอกถึงเนื้อผิวฟันบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งจะยังไม่มีความเจ็บปวด
ฟันผุ ระยะที่ 2
ฟันผุระยะที่ 2 เป็นระยะที่ผิวฟันเป็นรูฟันผุ และลุกลามไปจนถึงเนื้อฟัน สังเกตได้จากการดื่ม / รับประทานของเย็น หรือของร้อนจะมีอาการเสียวฟัน
ฟันผุ ระยะที่ 3
ฟันผุระยะที่ 3 เป็นระยะที่ฟันผุลุกลามลงไปถึงโพรงประสาทฟัน และมีความเจ็บปวด จนทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
ฟันผุ ระยะที่ 4
ฟันผุระยะที่ 4 ระยะนี้มีความรุนแรง อาจเกิดการอักเสบจนปวด ฟันโยก เกิดหนอง หากเกิดอาการติดเชื้ออาจจะเกิดการสูญเสียฟัน และต้องทำการรักษารากฟันในที่สุด
รู้หรือไม่? ฟันซี่ไหนผุง่ายที่สุด
ฟันที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการฟันผุได้ง่าย คือ ฟันกราม ซึ่งเป็นฟันแท้ซี่แรกๆ ที่ขึ้นในช่องปาก แบ่งออกเป็น ฟันกรามน้อย ( Premolar ) และฟันกราม ( Molar ) ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารเป็นหลัก จึงมีโอกาสที่จะแตก หัก จากการบดเคี้ยวอาหาร ( ของแข็ง ) ได้ง่าย
และยังมีการสัมผัสกับกรดจากอาหารมากที่สุด จึงอาจส่งผลให้ฟันกรามมีโอกาสผุได้ง่าย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฟันกรามจะผุได้อย่างเดียว ฟันซื่อื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดฟันผุได้เช่นกัน หากดูแลรักษาไม่ดีพอก็อาจจะเกิดการสูญเสียฟันได้ในที่สุด
โรคฟันผุ รักษาได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
การอุดฟัน : เมื่อเกิดฟันผุ และทันตแพทย์ประเมินแล้วว่ายังสามารถอุดได้ ทันตแพทย์ก็จะเลือกใช้วิธีการอุดฟัน ด้วยการกำจัดเนื้อฟันที่ผุ แล้วปิดรูด้วยวัสดุอุดฟัน แต่หากพบว่าฟันผุมีบริเวณกว้าง เหลือเนื้อฟันน้อย ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำครอบฟัน เพื่อปิดบริเวณที่สูญเสียเนื้อฟันไป
การรักษารากฟัน : ทันตแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อ ฟันผุนั้นผุลุกลามเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน เมื่อเนื้อเยื่อฟันอักเสบก็ต้องรักษารากฟัน ซึ่งจะช่วยให้เก็บรักษารากฟันซี่ที่ผุไว้ได้ แทนที่จะเลือกใช้วิธีการถอนฟัน โดยวิธีการรักษารากฟันนี้ ทันตแพทย์จะเอาเนื้อเยื่อที่อักเสบออก แล้วทำความสะอาดโพรงเนื้อเยื่อ และทำการปิดรูฟันผุด้วยวัสดุอุดฟัน
การถอนฟัน : วิธีการนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่ทันตแพทย์เลือก เนื่องจากเป็นการสูญเสียฟันแท้ไปถาวร ทันตแพทย์จะทำการประเมินก่อนว่าฟันซี่นั้นไม่สามารถรักษาได้ เพราะไม่เหลือเนื้อฟันในการรักษา ถ้าหากจำเป็นต้องถอนฟันทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำสะพานฟันหรือรากเทียม เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป
จัดฟันบางนา: อาการฟันผุเป็นอย่างไร? เช็กฟันผุด้วยตัวเอง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.idolsmiledental.com/category/จัดฟันบางนา/