Author Topic: ตรวจอาการ: หลอดลมพอง (Bronchiectasis)  (Read 282 times)

0 Members and 2 Guests are viewing this topic.

Offline siritidaporn

  • Pro Member
  • *
  • Posts: 759
  • Karma: +0/-0

หลอดลมพอง (โบราณเรียกว่า มองคร่อ) หมายถึง ภาวะที่หลอดลมบางส่วนเกิดการขยายตัว (โป่งพอง) กว้างขึ้นกว่าปกติอย่างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากผนังหลอดลมถูกทำลาย ทำให้มีการติดเชื้อบ่อย เกิดอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง

ภาวะนี้อาจเกิดกับหลอดลมเพียง 1-2 แห่ง หรือหลายแห่งก็ได้ มักเกิดกับหลอดลมขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งก็อาจเกิดกับหลอดลมขนาดเล็ก ซึ่งจะถูกทำลายกลายเป็นแผลเป็น ถ้าเกิดกับหลอดลมขนาดใหญ่มักสัมพันธ์กับโรคเชื้อราแอสเปอจิลลัสของทางเดินหายใจ (allergic bronchopulmonary aspergillosis)

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี

บางรายอาจพบร่วมกับโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง หรือหืด


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด) แบคทีเรีย (เช่น ไอกรน เชื้อสูโดโมเนส เคล็บซิลลา สแตฟีโลค็อกคัส ไมโคพลาสมา) เชื้อรา (เช่น แอสเปอจิลลัส) รวมทั้งการติดเชื้อของปอด เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคปอด ฝีปอด (lung abscess) เป็นต้น

บางครั้งการติดเชื้อดังกล่าว อาจมีสาเหตุชักนำ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เอดส์ มะเร็ง) การอุดกั้นของหลอดลม (จากสิ่งแปลกปลอม เนื้องอกหรือมะเร็ง)

ส่วนน้อยเกิดจาการสูดแก๊สพิษหรือสารพิษ เช่น ควันบุหรี่ แอมโมเนีย คลอรีน ฝุ่นถ่านหิน หรือซิลิกา เข้าไปทำลายผนังหลอดลม

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของทางเดินหายใจโดยกำเนิด ซึ่งบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

สาเหตุเหล่านี้ทำให้ผนังหลอดลมถูกทำลาย รวมทั้งขนอ่อน (cilia) ที่เยื่อบุหลอดลมหลุดลอก สูญเสียกลไกในการขับสิ่งคัดหลั่ง (เสมหะ) เกิดการสะสมของเสมหะ ซึ่งมีเชื้อโรค ฝุ่น และสารระคายเคืองเจือปนอยู่ ส่งผลให้หลอดลมขยายตัว (โป่งพอง) บางครั้งกลายเป็นกระเปาะหรือถุงเล็ก ๆ (เป็นที่กักเชื้อโรค ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย) ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นหลอดลมพองจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นวงจรของ "การติดเชื้อ → การทำลายผนังหลอดลม → การสะสมเสมหะ (และเชื้อโรค) → การติดเชื้อ ..." กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มักจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะค่อยเป็นค่อยไปจนถึงขั้นแสดงอาการเมื่อมีอายุมากขึ้น
 

อาการ

ที่สำคัญ คือ ไอเรื้อรังทุกวัน ออกเป็นเสมหะสีเหลืองหรือเขียวจำนวนมาก และมีกลิ่นเหม็น บางครั้งอาจออกมากถึงวันละ 1 แก้ว อาการไอจะเป็นมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า และเวลาอยู่ในท่านอนตะแคง ลมหายใจมักมีกลิ่นเหม็น

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จะมีอาการไอออกเป็นเลือด (เนื่องจากผนังหลอดลมที่อักเสบมีการเพิ่มจำนวนหลอดเลือด ซึ่งมักจะเปราะและแตกง่าย) ลักษณะเป็นเลือดปนกับเสมหะ หรืออาจเป็นเลือดสดล้วน ๆ ก็ได้ มักออกเล็กน้อยและหยุดได้เอง ส่วนน้อยอาจมีเลือดออกจำนวนมาก บางรายอาจไม่มีอาการไอเรื้อรังมาก่อนอยู่ดี ๆ หรือหลังเป็นไข้หวัด ก็ไอออกเป็นเลือด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักไม่มีไข้ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หรือหอบเหนื่อยง่ายร่วมด้วย ยกเว้นเมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา โรคจะค่อย ๆ ลุกลามจนเป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาใช้แรงมากและน้ำหนักลด


ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ ปอดอักเสบ ซึ่งกำเริบได้บ่อย

อาจไอออกเป็นเลือดจำนวนมาก

อาจทำให้เกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ภาวะการหายใจล้มเหลว และภาวะหัวใจวาย ดังที่เรียกว่า โรคหัวใจเหตุจากปอด (cor pulmonale)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

การตรวจร่างกายระยะแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

ในรายที่ไอมีเสมหะมาก ถ้านำเสมหะของผู้ป่วยใส่แก้วตั้งทิ้งไว้จะพบว่าแยกออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นหนองข้น ชั้นกลางเป็นของเหลวใส และชั้นบนสุดเป็นฟอง

การใช้เครื่องฟังตรวจปอด มักได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) เสียงอึ๊ด (rhonchi) และ/หรือเสียงวี้ด (wheezing) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจบริเวณปอดส่วนล่าง

ในรายที่เป็นมาก อาจพบอาการนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers)

บางรายอาจพบมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ตรวจเลือด บางครั้งอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) เพื่อค้นหาสาเหตุ (เช่น สิ่งแปลกปลอม เนื้องอก) ทำการทดสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค รวมทั้งการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่สงสัย เช่น เอดส์ วัณโรค เชื้อรา
 
การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ในรายที่ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวโดยสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี (ไม่มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก และน้ำหนักลด) ให้การดูแลรักษาดังนี้

    ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น) นาน 7-10 วัน
    ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ถ้ามีเสียงวี้ดให้ยากระตุ้นบีตา 2 สูดหรือกิน เป็นต้น
    แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ (วันละ 8-12 แก้ว) ควรงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ ฝุ่น ควันมลพิษในอากาศ
    ในรายที่มีเสมหะออกมาก หมั่นระบายออกในท่านอนระบายเสมหะ (postural drainage)โดยการนอนคว่ำพาดกับขอบเตียงและวางศีรษะบนพื้น โดยใช้มือหรือหมอนรอง ทำวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที

2. ถ้าไม่ดีขึ้น หรือไอออกเป็นเลือด หายใจหอบ เท้าบวม หรือกำเริบบ่อย แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้น้ำเกลือ ให้เลือดออกซิเจน ยาขยายหลอดลม) และแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในรายที่ดื้อต่อยา หรือมีเลือดออกมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ผลการรักษา ในรายที่เป็นระยะแรกไม่รุนแรง การได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ มักจะได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ผลการรักษายังขึ้นกับความรุนแรงของโรค สาเหตุ และภาวะแทรกซ้อน


การดูแลตนเอง

หากมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด ควรปรึกษาแพทย์

หากตรวจพบว่า เป็นหลอดลมพอง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญคือ เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ (วันละ 8-12 แก้ว) เพื่อช่วยขับเสมหะ

2. ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยเรียนรู้วิธีใช้ยาที่ถูกต้อง และติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง

3. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
    เจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
    ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอเป็นเลือด
    เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
    นอนราบไม่ได้ (เพราะรู้สึกหายใจลำบาก) หรือเท้าบวม
    ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ  2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น   
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานตั้งแต่วัยเด็ก

2. เมื่อเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ ควรรับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ

3. ป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม

4. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นหรือสารพิษเข้าปอด


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง และเมื่อมีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ

2. ผู้ป่วยควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค


ตรวจอาการ: หลอดลมพอง (Bronchiectasis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
187 Views
Last post September 17, 2023, 11:42:00 PM
by siritidaporn