มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งในผู้หญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี แต่ก็อาจพบในคนอายุน้อย (เช่น 20 ปี) ก็ได้
มะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคนี้ มีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus/HPV) ชนิด 16 และ 18 (ซึ่งยังเป็นปัจจัยของการเกิดมะเร็งช่องปากและองคชาตอีกด้วย แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับเอชพีวี ชนิดที่ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดและหงอนไก่) เชื้อนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งพบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี สามารถตรวจเช็กพร้อมกับการตรวจแพ็ปสเมียร์ พบว่าการติดเชื้อเอชพีวีมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 17 ปี, มีคู่นอนหรือสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ, มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ (เช่น เอชไอวี เชื้อคลามีเดีย เริม ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น), ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกัน)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เสริมให้เป็นมะเร็งปากมดลูก เช่น การสูบบุหรี่ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปีขึ้นไป การมีบุตรหลายคน การกินผักและผลไม้น้อย น้ำหนักเกิน การมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เป็นต้น
อาการ
ระยะแรกเริ่ม จะไม่มีอาการแสดง (สามารถตรวจพบโดยการตรวจแพ็ปสเมียร์) เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น จะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอด (บางรายเข้าใจว่ามีประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย) หรือมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ บางรายอาจมีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือตกขาวปริมาณมาก
ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจสังเกตว่าหลังจากหมดประจำเดือนไปนาน 6 เดือนหรือเป็นปี กลับมีประจำเดือนมาใหม่ แต่ออกมากและนานกว่าปกติ
ระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ก้นกบ หรือต้นขา ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ขาบวม เกิดภาวะไตวาย เนื่องจากทางเดินปัสสาวะอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะซีด (จากอาการเลือดออกทางช่องคลอดเรื้อรัง), เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
มะเร็งมักลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ (ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด), ทวารหนัก (ถ่ายอุจจาระลำบาก ถ่ายเป็นเลือด), มีปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ดรั่วออกทางช่องคลอด, ลำไส้ (ลำไส้อุดกั้น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด), ในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ)
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ หรือการตรวจกรองโรคก่อนมีอาการ โดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดังที่เรียกว่าแพ็ปสเมียร์ (Pap smear)
หากสงสัยก็จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก (colposcopy) และตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์,เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด
โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/