ไทฟอยด์ (ไข้ไทฟอยด์ ไข้เอนเทอริก ไข้รากสาดน้อย ก็เรียก) พบได้บ่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า ไข้หัวโกร๋น เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษา เป็นไข้กันเป็นเดือนจนกระทั่งผมร่วง
พบได้ในทุกอายุ แต่จะพบมากในคนอายุ 10-30 ปี อาจพบว่ามีคนในละแวกใกล้เคียงเคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคนี้ด้วย พบมากในฤดูร้อน แต่ก็พบได้ตลอดทั้งปี
บางครั้งอาจพบระบาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลาไทฟิ (Salmonella typhi)
โรคนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยหรือพาหะ หรือปนเปื้อนเชื้อจากแมลงวันตอม
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ)
เชื้อจะรุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุลำไส้เล็กอาศัยอยู่ในกลุ่มเซลล์น้ำเหลือง (Peyer's patch) ทำให้ลำไส้อักเสบหรือเป็นแผล ขณะเดียวกันก็แพร่เข้าตับ ทางเดินน้ำดี และเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ ไต สมอง กระดูก ไขกระดูก เป็นต้น
ระยะฟักตัว ประมาณ 14 วัน (7-21 วัน)
อาการ
ลักษณะโดดเด่น คือ มีไข้สูงลอยแบบเรื้อรัง
อาการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยแรกเริ่มจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออก บางครั้งอาจมีอาการไอแห้ง ๆ และเจ็บคอเล็กน้อย
มักมีอาการท้องผูก (มักพบในผู้ใหญ่) หรือไม่ก็ถ่ายเหลว (มักพบในเด็ก) ร่วมด้วย
อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และกดเจ็บเล็กน้อย
ต่อมาไข้จะค่อย ๆ สูงขึ้นทุกวัน และจับไข้ตลอดเวลา ถึงแม้จะกินยาลดไข้ก็อาจไม่ลด ทุกครั้งที่จับไข้จะรู้สึกปวดศีรษะมาก
อาการไข้มักจะเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีไข้สูงอยู่นาน 3 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดลงจนเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นไข้อยู่นาน 6 สัปดาห์ก็ได้
บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพัก ๆ เพ้อ หรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ
ผู้ป่วยจะซึมและเบื่ออาหารมาก ถ้ามีอาการมากกว่า 5 วันผู้ป่วยจะดูหน้าซีดเซียว แต่เปลือกตาไม่ซีด (เหมือนอย่างผู้ป่วยโลหิตจาง) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า หน้าไทฟอยด์
ข้อมูลสุขภาพ: ไทฟอยด์/ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever/Enteric fever) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops