จากจำนวนผู้ที่เป็นเบาหวานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และข้อเท็จจริงว่าเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถป้องกันได้ วงการแพทย์จึงได้เริ่มมองเบาหวานในมุมใหม่ จากเดิมที่มองว่าเป็นโรคที่ต้องรักษา เปลี่ยนมาเป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่ป้องกันได้โดยต้องมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม และต้องมีการจัดการและป้องกันเชิงสาธารณสุข ด้วยการค้นหาความเสี่ยงและหาแนวทางจัดการลดความเสี่ยงให้ได้มีประสิทธิภาพ
8 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
1. ประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยลูกที่มีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ 30 หากทั้งพ่อและแม่เป็นเบาหวาน โอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ทั้งนี้ พันธุกรรมความดื้อต่ออินซูลินจะเกี่ยวข้องกับยีนหลายตัว ทำให้ระดับความรุนแรงในการถ่ายทอดโรคเบาหวานทางพันธุกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
2. น้ำหนักเกินหรืออ้วน
ความอ้วนเป็นตัววายร้ายที่กระตุ้นให้ยีนความดื้อต่ออินซูลินปรากฏออกมา ในปัจจุบันพบว่าจำนวนคนอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดที่อุดมด้วยไขมันและคาร์โบไฮเดรต ตลอดจนวิถีชีวิตที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง อยู่นิ่งๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ทำให้ร่างกายใช้พลังงานลดลง เมื่อความต้องการใช้พลังงานของร่างกายลดลง แต่เรายังคงบริโภคอาหารในปริมาณเท่าเดิม จึงเกิดความไม่สมดุลและกระตุ้นให้เกิดการดื้ออินซูลินมากขึ้น
3. ไขมันในเลือดสูง
ความดื้อต่ออินซูลินทำให้ไขมันในเลือดสูง หากตรวจพบว่า ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น และไขมันเอชดีแอล (HDL) ซึ่งเป็นไขมันดีลดลง จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายมีความดื้อต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น
4. ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงนับเป็นส่วนหนึ่งของโรคเบาหวานเลยทีเดียว ทั้งนี้ ความดันโลหิตสูงในผู้ที่เป็นเบาหวานนั้น เริ่มต้นจากความผิดปกติของไต หรือจากตะกรันที่หลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดเกิดความต้านทานเพิ่มขึ้น หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามมา ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจึงควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
5. ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงระหว่างการตั้งครรภ์ จะเป็นเบาหวานภายใน 5 ปีหลังคลอดบุตร ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณเตือนว่า จะต้องได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทันทีทั้งด้านการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย
ความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/