หลังจากซื้อบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์บริหารจัดการระบบงานธุรกิจหรือ business process management (BPM) นามว่า "ลอมบาร์ดี (Lombardi)" ด้วยมูลค่าไม่เปิดเผยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดไอบีเอ็มทยอยส่งลอมบาร์ดีเพื่อเติมเต็มลูกค้าไอบีเอ็มในประเทศไทยแล้ว บนเดิมพันคือเค้กก้อนใหญ่ในตลาด BPM โลกซึ่งการ์ทเนอร์พยากรณ์ว่าจะมีมูลค่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า
บิล ลีบเลอร์ (Bill Liebler) ผู้บริหารโซลูชันอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม ซึ่งดูแลหน่วยตลาดกำลังเติบโตทั่วเอเชียแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย ว่า เริ่มกระบวนการควบรวมกับลอมบาร์ดีอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปี 2010 ทำให้ไอบีเอ็มสามารถให้บริการชุดซอฟต์แวร์ BPM บน WebSphere ที่มีศูนย์กลางต่างกัน 3 กลุ่มใหญ่ได้ครบวงจรยิ่งขึ้นในขณะนี้ ทั้งกลุ่มที่มีระบบงานเป็นศูนย์กลาง กลุ่มที่มีข้อมูลเป็นศูนย์กลาง และกลุ่มที่มีพนักงานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งล้วนช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานของตัวเองได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
"เรารู้ว่าตลาด BPM มีศักยภาพมาก และลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งกลุ่ม Telco, ผู้ผลิต หรือบริษัทที่ต้องการเน้นการทำ CRM รวมถึงบริษัทที่ต้องการให้การทำงานต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิม โดยงานวิจัยของการ์ทเนอร์ระบุว่า มูลค่าตลาด BPM จะมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกถึง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2013 อัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี"
ตัวเลข 2,700 ล้านเหรียญนี้น้อยกว่าตัวเลขวิจัยของไอดีซี ที่มองว่าตลาด BPM โลกจะทะลุ 3,000 ล้านเหรียญในปี 2013 เพิ่มขึ้นจาก 1,700 ล้านเหรียญในปี 2009 โดยลีบเลอร์ไม่มีข้อมูลว่าสัดส่วนตัวเลขในอาเซียนและประเทศไทยอยู่ที่เท่าใด
เหตุที่บริษัทวิจัยชั้นนำมองว่าตลาด BPM จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต คือการที่องค์กรทั่วโลกมองเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้บุคลากรสามารถเชื่อมต่อข้อมูลมหาศาลตามเงื่อนไขของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไอบีเอ็มยกตัวอย่างบริษัท Globe Telecom โอเปอเรเตอร์เบอร์ 2 ของฟิลิปปินส์ซึ่งสามารถใช้ BPM เชื่อมต่อกับตัวแทนขายได้เร็วขึ้น สามารถจัดการด้านภาษีและประสานงานช่องทางถ่ายโอนเงินกับพันธมิตรตัวแทนขายได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ลดระยะเวลาพัฒนาโปรโมชันใหม่ลงถึง 95% ทั้งในแง่เวลาและเงินทุน
"95% นี้เป็นไปได้ เพราะบริษัทสามารถใช้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งบริษัทจะใช้เวลาและเงินทุนน้อยลง"
ลีบเลอร์อธิบายว่าแต่ละองค์กรต้องการความสามารถของระบบที่ต่างกัน หลายองค์กรต้องการโซลูชัน Process Centric โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นการส่งไฟล์งานเอกสารจำนวนมาก ขณะที่บางแห่งต้องการ Information Centric เช่นกรณีการเปิดบัญชีผู้ใช้รายใหม่ในบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งต้องเชื่อมกับหลายระบบงานทั้ง CRM หรือ Billing แต่บางบริษัทก็ต้องการ People Centric เช่น บริษัทรถยนต์ที่ต้องการระบบสื่อสารระหว่างแผนกวิศวกรและส่วนอื่นๆเพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำได้เร็วขึ้น โดยลอมบาร์ดีจะมาเติมเต็มระบบดั้งเดิมที่ไอบีเอ็มมีอยู่ในกลุ่มหลังสุด
"โซลูชันทั้งหมดของไอบีเอ็มสำคัญเหมือนกันหมด ลูกค้าแต่ละคนต่างกันมีความต้องการไม่เหมือนกัน แต่เราจะเน้นผลักดันให้องค์กรสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวได้ เสริมจากที่ไอบีเอ็มเน้นแนวคิดเชื่อมต่อคนเข้ากับข้อมูลมาตลอด เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลมากมายที่มีในระบบไปต่อยอดธุรกิจ"
ต้องยอมรับว่า ลอมบาร์ดีทำให้ไอบีเอ็มมีจุดต่างจากคู่แข่งรายอื่นในธุรกิจ BPM ทั้งออราเคิล เอชพี เอสเอพี ฯลฯ ซึ่งล้วนนำเสนอเครื่องมือเพื่อให้องค์กรสามารถลดขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งด้านความง่าย สะดวกสบาย และระบบอัตโนมัติ โดยไอบีเอ็มย้ำว่า ระบบ BPM ของลอมบาร์ดีสามารถช่วยให้ผู้บริหารระดับบนถึงพนักงานระดับล่างสุดสามารถสื่อสารและดำเนินงานได้แบบครบวงจร ง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทในที่สุด
สำหรับกระแสร้อนแรงของอุปกรณ์พกพาทั้งแบล็กเบอรี่และไอโฟน ลีบเลอร์ระบุว่าไอบีเอ็มยังไม่มีแผนลงมาสร้างโซลูชันเพื่อให้นักธุรกิจสามารถทำงานบนอุปกรณ์พกพาด้วยตัวเอง แต่จะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรผู้ค้าซอฟต์แวร์อิสระ ISV (Independent Software Vendor) ซึ่งกำลังทำตลาดอยู่แล้วในขณะนี้ ขณะที่กระแสคลาวด์คอมพิวติงนั้น ลีบเลอร์ยืนยันว่าโซลูชัน BPM บนคลาวด์นั้นจะพร้อมลงตลาดแน่นอน
"ขณะนี้ทุกบริษัทสนใจสร้าง Private Cloud ขึ้นมาใช้ในองค์กรของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ WebSphere ก็สามารถเชื่อมต่อทั้ง Private Cloud และ Public Cloud อย่างกูเกิลและอเมซอนได้แล้ว อนาคตของ BPM คือการพัฒนาให้มีความเป็นเรียลไทม์ยิ่งขึ้นอีก เร็วขึ้นเพื่อให้องค์กรสามารถเข้าถึงลูกค้าได้เร็วขึ้น เราเห็นช่องว่างตรงนี้ เราต้องการทำให้องค์กรฉลาดขึ้น และสามารถใช้ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้"
ความท้าทายของตลาดนับจากนี้ลีบเลอร์มองว่าคือการทำอย่างไรให้ผู้บริโภคปรับตัวได้รวดเร็วตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจหรือการแข่งขันสุดดุเดือดในตลาดแห่งนี้
สำหรับลอมบาร์ดี้ เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งถือกำเนินในออสติน รัฐเท็กซัส มีสาขาสำนักงานมากมายในยุโรป ส่อแววรุ่งเพราะตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวต่อเนื่องนานหลายปี มีลูกค้าทั้งในกลุ่มสถาบันการเงิน ภาครัฐ สถานพยาบาล ธุรกิจประกันภัย ภาคการผลิต และโทรคมนาคม การซื้อลอมบาร์ดี้โดยไม่เปิดเผยมูลค่าเมื่อธันวาคมปี 2009 ทำให้ไอบีเอ็มมีลูกค้าในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ
Company Relate Link :
IBM
ที่มา: manager.co.th