"เอเอ็มดี" เปิดเกมรุกอัดฉีดช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมตั้งทีมดูแลโดยเฉพาะ หลังอินเตอร์แบรนด์ขนโน้ตบุ๊กที่ใช้ "เอเอ็มดี" ลงตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งเลอโนโว-โตชิบา และซัมซุง ชี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เน้นโน้ตบุ๊กระดับราคา 1.49-1.89 หมื่นบาท ล่าสุดควง "เอชพี" ชิงเค้กโปรเจ็กต์ สพฐ. มา 30%
นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอเอ็มดี ฟาร์ อีสต์ (สาขาประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นโยบายของเอเอ็มดีปี 2553 คือการขยายตลาดในกลุ่มคอนซูเมอร์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเน้นการทำกิจกรรมผ่านร้านค้าปลีก หรือร้านจำหน่ายสินค้าไอที เพื่อสนับสนุนการทำตลาดพีซีตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป เอเอ็มดีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้า อินเตอร์แบรนด์ที่ใช้แพลตฟอร์มของเอเอ็มดีมากขึ้น จากเดิมที่จะมีเฉพาะแบรนด์เอเซอร์ เอชพี และอัสซุสที่ใช้เอเอ็มดี แต่ขณะนี้มีเพิ่มเข้ามาอีก 3 แบรนด์ คือเลอโนโว โตชิบา และซัมซุง แบรนด์ละ 2-3 รุ่น รวมถึงเดลล์ก็มีแผนจะนำสินค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของ เอเอ็มดีเข้าสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้
ทำให้ขณะนี้เอเอ็มดีมีสินค้าเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เอเอ็มดีจะเน้นการทำงานร่วมกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แบรนด์ต่าง ๆ ที่นำสินค้าเอเอ็มดีทำตลาดในไทยมากขึ้น
ขณะที่ในระดับโลก ล่าสุด เอเอ็มดีได้เป็นพาร์ตเนอร์กับโซนี่ผลิตสินค้าบนแพลตฟอร์มเอเอ็มดีเป็นครั้งแรก และเริ่มทำตลาดในยุโรปและญี่ปุ่น จากนั้นคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดไทยในอนาคตเช่นกัน
ดังนั้น บริษัทจึงต้องกระตุ้นช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อสร้างการรับรู้ของตลาดให้มากขึ้น โดยได้ตั้งทีมเข้ามาดูแล ประกอบด้วยฝ่ายดูแลตลาดรีเทล ดูแลดิสทริบิวเตอร์ และฝ่ายพัฒนาสินค้า มีหน้าที่ให้ความรู้ เทรนนิ่ง แนะนำสินค้า โฆษณาประชาสัมพันธ์เอเอ็มดีให้เป็นที่รู้จักตามหน้าร้านค้า ผ่านช่องทางจำหน่ายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นดีมานด์ให้เกิดขึ้น เช่น ล่าสุดได้จัดงานแสดงสินค้าโชว์เทคโนโลยีของเอเอ็มดีครั้งแรก ณ สยามพารากอน เป็นต้น
"เดิม คนรู้จักเอเอ็มดี ส่วนใหญ่คือกลุ่มดีไอวายเป็นหลัก แต่คอนซูเมอร์ทั่วไปยังไม่รู้จักเอเอ็มดีมากนัก แต่เนื่องจากตลาด คอนซูเมอร์ในไทยมีขนาดใหญ่มาก และพฤติกรรมของคอนซูเมอร์นิยมซื้อสินค้าที่ร้านรีเทล ซึ่งเป็นสถานที่พบปะกับลูกค้าโดยตรง มีโอกาสในการแนะนำสินค้า ทำให้เอเอ็มดีต้องการโฟกัสร้านรีเทลในไทยมากขึ้น และปีนี้ เอเอ็มดีได้รับงบฯในการทำ กิจกรรมสำหรับตลาดคอนซูเมอร์และรีเทลมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา"
นายจักรกฤชกล่าวว่า ตลาดหลักของ เอเอ็มดี คือโน้ตบุ๊ก ราคา 1.49-1.89 หมื่นบาท ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ใช้งานเริ่มต้น ต้องการซื้อสินค้าคุ้มค่ากับราคา แต่บริษัทหวังว่าในอนาคตจะสามารถขยับเซ็กเมนต์ราคาของสินค้าให้สูงขึ้นได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะ หัวเมืองรอง พร้อม ๆ กับทำตลาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โปรเจ็กต์ของ สพฐ. เอเอ็มดีได้ร่วมกับเอชพีนำเสนอสินค้าเข้าร่วมประมูล ซึ่งก็สามารถคว้ามาได้ประมาณ 30% ของโปรเจ็กต์โดยรวมกว่า 1 แสนยูนิต
นายจักรกฤชยังกล่าวอีกว่า เอเอ็มดียังได้มีการปรับปรุงระบบโปรแกรมพาร์ตเนอร์ใหม่ทั่วโลกให้เป็นระบบเดียวกัน และมีการแบ่งระดับพาร์ตเนอร์อย่างชัดเจน เพื่อให้พาร์ตเนอร์สามารถเข้าถึงเอเอ็มดีง่ายขึ้น ได้รับประโยชน์มากขึ้น อาทิ ระบบพอร์ทัลทางออนไลน์ ที่มีการพัฒนาเพื่อติดต่อกับพาร์ตเนอร์โดยตรง
ขณะที่ภาพรวมตลาด พบว่าประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพราะจากเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น กระทบตลาดใน กทม. แต่ต่างจังหวัดยังมีการเติบโต และปัจจุบันโน้ตบุ๊กกลายเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้งาน จึงพบว่ามีอัตราการเติบโตรวดเร็วมาก และกลายเป็นสินค้าสำหรับผู้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าเดสก์ทอป ซึ่งเริ่มขยับราคาสูงขึ้นสำหรับ ใช้งานเฉพาะกลุ่ม
ส่วนตลาดพีซีเครื่องประกอบยังทรงตัว ผู้ค้าบางรายมีการขายโน้ตบุ๊กควบคู่ด้วย แต่กระนั้น มาร์จิ้นที่ผู้ขายได้รับจากการขายเครื่องประกอบมีมากกว่า จึงขึ้นอยู่กับว่า แต่ละร้านค้าจะบาลานซ์ยอดขายอย่างไร
ทั้งนี้ สำหรับยอดขายของเอเอ็มดีในไทย มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพะการเติบโตของโน้ตบุ๊กแพลตฟอร์มเอเอ็มดี มีการเติบโตในอัตราที่สูงมาก โดยปี 2553 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตมากกว่าตลาดรวมในไทยระดับดับเบิลดิจิต
ที่มา: prachachat.net