นายรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่า ปี 2552 ซิป้ามีงบประมาณ 900 บาท เหลือจากปี 2551 ประมาณ 400 ล้านบาท และปี 2552 ซิป้า อยู่ที่ 500 กว่าล้านบาท ดังนั้นจึงนำเงินส่วนที่เหลือจากงบประมาณปีที่ผ่านมาสมทบกันได้ ทั้งนี้ เงินที่เหลือจากปี 2551 ยังไม่รู้ว่าจะใช้ในโครงการใด ยังต้องประชุมบอร์ด โดยจะรู้ผลภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ ซิป้าแบ่งหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ 3 หลัก คือ 1.ร่วมทุน 2.ร่วมโครงการ และ3.ให้ทุนสนับสนุน เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมขึ้น
“ปี 2551 ที่ผ่านมา ซิป้ามีเงินงบประมาณเหลือค่อนข้างมาก รวมกับปี 2552 อยู่ที่ 900 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าซิป้ามีโครงการใหญ่กว่า 1 พันล้านก็เสนอต่อรัฐบาลได้ โดยมีทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณสำนักงาน และงบโครงการ สำหรับงบประมาณร่วมทุน ต้องผ่านครม.ไม่เกิน 30 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ส่วนได้จากรัฐบาลในส่วนเงินอุดหนุน” ผอ.ซิป้า กล่าว
นายจีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ ประธานกรรมการบริหารซิป้า กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หากเทียบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นศูนย์กลางของเอเชีย และเทียบกับประเทศอินเดียที่เป็นศูนย์กลางด้านคอลเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับตำแหน่ง มีภาคเอกชนบางส่วนเข้าพบเพื่อพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการแล้ว
ปธ.บอร์ดซิป้า กล่าวต่อว่า จาก 3 แนวทางหลักดังกล่าว ซิป้ามีโอกาสสร้างรายได้ขึ้นเอง แต่จะสร้างได้จริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับซิป้า เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ส่วนรายได้ที่ซิป้าได้มาเพราะความเป็นเจ้าของควรจดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และลดการนำเข้า เพื่อสร้างรายได้ ที่ผ่านมา ซิป้าได้ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) นอกจากนี้ ซิป้ายังมีโครงการใหญ่ คือ การทำซอฟต์แวร์ระบบจัดการทรัพยากรในองค์กร โดยระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลในการปฏิบัติงานทุกส่วนในองค์กร หรืออีอาร์พี และจะเริ่มวางกรอบในการประเมินการทำงานของบอร์ดทั้งชุด รวมถึงผอ. เพื่อวัดผลการทำงานด้วย
ที่มา: thairath.co.th