การทำงานจากบ้านหรือเวิร์กฟรอมโฮม (work from home) เป็นหนึ่งในทางออกที่บริษัทต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ รวมถึงไทย นำมาใช้เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการให้พนักงานส่วนออฟฟิศสามารถทำงานที่บ้านหรือที่พักผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรือรับมือกับมาตรการกักกันโรค
อย่างไรก็ตาม บรรดาพนักงาน
ชาวญี่ปุ่นที่ต้องทำงานที่บ้านแบบจริงจังเริ่มพบว่า อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ตนมีนั้นไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสมกับการทำงานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์อย่าง โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ทำให้ดีมานด์สินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานสัญชาติญี่ปุ่นหลายราย อาทิ “อิโตคิ” (Itoki), “โคคุโย” (Kokuyo), “โอคามูระ” (Okamura) และ “อุชิดะ โยโกะ” (Uchida Yoko) ต่างเปิดเผยว่า ดีมานด์อุปกรณ์โฮมออฟฟิศพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เร็วกว่าที่คาดไว้เดิมว่าดีมานด์จะสูงช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ซึ่งบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มใช้นโยบายการทำงานจากบ้านมากขึ้นเพื่อลดความแออัดของขนส่งมวลชนช่วงการแข่งขันโอลิมปิก และพาราลิมปิก 2020
โดยดีมานด์ที่สูงขึ้นนี้เป็นผลจากเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเรือนไม่เหมาะสำหรับการทำงานเป็นเวลานาน ส่งผลให้บรรดาพนักงานเกิดปัญหา (โฮม) ออฟฟิศซินโดรมกันถ้วนหน้า จนต้องหาซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบสำนักงานมาใช้ โดยหลายรายทุ่มเงินแบบเต็มที่อีกด้วย
โฮมออฟฟิศญี่ปุ่นฮิต “เฟอร์นิเจอร์” ยิ้มรับไวรัสมหาภัย
The Asian man working at home.
หนึ่งในนั้นคือ “เรียวโกะ โยชิดะ” พนักงานของมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่กล่าวว่า หลังจากเริ่มทำงานจากบ้านได้ไม่นานก็เริ่มเกิดอาการปวดคอ เพราะการนั่งพิมพ์งานที่โต๊ะกาแฟในห้องนั่งเล่น สุดท้ายต้องออกไปหาซื้อโต๊ะทำงานแบบจริงจังมาใช้ โดยเหมาโต๊ะคอมฯของบริษัทอิโตคิจำนวน 3 ตัว ซึ่งมีความสูงแตกต่างกันมาใช้
“ความสูงที่ต่างกันของโต๊ะแต่ละตัวช่วยให้สามารถเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างทำงานได้เรื่อย ๆ ทั้งลดความน่าเบื่อและเพิ่มสมาธิ รวมถึงแก้ปัญหาปวดคอได้ชะงัด”
ด้านผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานเองต่างปรับตัว ด้วยการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่เหมาะกับการใช้ในที่พักอาศัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “อิโตคิ” ซึ่งนำดีไซน์ของเก้าอี้เล่นเกมมาปรับเป็นเก้าอี้สำนักงาน ซึ่งมีที่รองคอและแผ่นรองหลังส่วนล่างที่ปรับระดับได้ ส่วน “โคคุโย” เปิดตัวเก้าอี้สำนักงานแบบฐานสปริงซึ่งทำให้ได้ผลดีกับสุขภาพแบบเดียวกันกับการนั่งบนบอลโยคะ ในขณะที่ “โอคามูระ” และ “อุชิดะ โยโกะ” ต่างเร่งทำตลาดโต๊ะทำงานแบบปรับระดับได้ในกลุ่มผู้ที่ทำงานที่บ้านเช่นกัน
ทั้งนี้ เทรนด์การทำงานที่บ้านเริ่มมาแรงในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2562 เมื่อบริษัทต่าง ๆ อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านในกรณีที่ต้องดูแลเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ โดยจากผลสำรวจของนิกเคอิ ซึ่งสอบถามบริษัท 700 แห่งทั่วญี่ปุ่น เมื่อปี 2562 พบว่า ประมาณ 50% มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ ช่วยให้ดีมานด์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานเริ่มสูงตามไปด้วย
สอดคล้องกับข้อมูลของผู้ผลิตทั้ง “อิโตคิ” ที่เปิดเผยว่า ปีงบฯ 2562 ลูกค้าทั่วไปซื้อเฟอร์นิเจอร์สำนักงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากยอดขายทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นถึง 47% เทียบกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับข้อมูลจาก “โคคุโย” ที่ระบุว่า ยอดขายเก้าอี้ทำงานสำหรับครัวเรือนเพิ่มขึ้น 150% จากปี 2558
น่าสนใจและต้องจับตาดูกันว่าดีมานด์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานจากภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นนี้ จะเริ่มเห็นได้ในประเทศอื่น ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดหรือไม่