อินเทลเชื่อบริการไวแมกซ์ไทยจะชัดขึ้นหลังเปิดประมูลคลื่นความถี่เรียบร้อย คาดระยะเวลาสัมปทานอยู่ระหว่าง 10 - 15 ปี เพราะผู้ให้บริการสามารถวางแผนในระยะยาวได้ ชี้โมเดลธุรกิจ MVNO น่าจะเข้ามาเป็นตัวผลักดันการใช้งานในประเทศ พร้อมเปิดตัวชิปเซ็ตเชื่อมต่อไวแมกซ์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับโน้ตบุ๊กทำให้สามารถใช้งานไวแมกซ์ได้โดยไม่ต้องต่อพ่วงอุปกรณ์เสริม
การ์ธ โคลเลอร์ (Garth Coller) ประธานฝ่ายธุรกิจไวแมกซ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัทอินเทล คอร์ปอเรชัน ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อินเทลให้ความสนใจประเทศไทยเป็นอับดับต้นๆ ในเอเชียแปซิฟิกเรื่องการลงทุนด้านไวแมกซ์ หลังจากมีการเปิดใช้งานในมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยดูจากความคืบหน้าในเรื่องของการประมูลไลเซ่นส์ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้
"เราพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนไวแมกซ์ในประเทศไทย ทันทีที่มีผู้ให้บริการไวแมกซ์เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากทช เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการประมูลคลื่นความถี่รวมไปถึงรูปแบบของการใช้งานด้วย ดังนั้นถ้าการประมูลสำเร็จและมีผู้ให้บริการอินเทลก็พร้อมให้ความร่วมมือแน่นอน"
อินเทลให้ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตว่าอัตราการเติบโตของโมบายล์อินเทอร์เน็ตจะสูงขึ้น 131% ในปี 2014 ทำให้ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตช้าลงไปตามจำนวนของเครื่อง โดยเทียบได้ว่า สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่ากับโทรศัพท์ 30 เครื่อง ขณะที่โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ถ้ามีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะเท่ากับโทรศัพท์ 450 เครื่อง
ส่วนค่าเฉลี่ยความเร็วของ 3G ในประเทศที่เปิดใช้งานแล้วปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 1Mbps โดยใน 1 เดือน ผู้ใช้ไอโฟนจะมีการใช้งานเฉลี่ย 1GB ต่อเครื่อง ขณะที่ถ้าเปลี่ยนเป็นไวแมกซ์ ความเร็วเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ 5-10 Mbps ทำให้การใช้งานเฉลียต่อเดือนสามารถขึ้นไปอยู่ที่ราวๆ 7-10 GB ต่อเครื่องได้ ถือเป็นการเปิดโลกอินเทอร์เน็ตที่กว้างขึ้นให้กับผู้ใช้งาน
ปัจจุบันมีบริษัทที่กำลังเตรียมใช้งานไวแมกซ์รวมถึงเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 550 บริษัท ใน 140 ประเทศ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากสำนักวิจัย ABI ในงานไวแมกซ์ฟอรัมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการสำรวจข้อมูลจากประเทศที่มีการเปิดใช้งานไวแมกซ์แล้วในปัจจุบันอย่าง เกาหลี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่นว่า ประสิทธิภาพและราคาการใช้งานไวแมกซ์ถูกกว่า 3G ราวๆ 2-5 เท่า และอาจจะถูกกว่าถึง 10 เท่าในอนาคต
ขณะที่บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์กว่า 13 ราย สามารถผลิตโน้ตบุ๊กที่สามารถใส่อุปกรณ์รับสัญญาณไวแมกซ์ของอินเทล เข้าไปในโน้ตบุ๊กที่วางจำหน่ายได้แล้ว เช่นในสหรัฐฯ มีโน้ตบุ๊กมากกว่า 30 รุ่น จาก 9 เวนเดอร์ ที่สามารถใช้งานไวแมกซ์ได้ ขณะที่ในญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งเริ่มมีการใช้งานไวแมกซ์ได้ไม่นาน ปัจจุบันมีโน้ตบุ๊กมากกว่า 20 รุ่นวางจำหน่ายจาก 8 เวนเดอร์ในปัจจุบัน
"เมื่อประเทศใดมีการเปิดบริการไวแมกซ์ อินเทลก็พร้อมที่จะร่วมมือกับเวนเดอร์ในแต่ละประเทศ ที่จะนำโน้ตบุ๊กที่รองรับการใช้งานเข้ามาขายและอินเทลยังเดินหน้าพัฒนาการใช้งานไวแมกซ์ต่อไป รวมไปถึงการให้บริการด้านโซลูชันอื่นๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา"
โดยโมเดลธุรกิจการให้บริการไวแมกซ์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอาจจะมีทั้งรูปแบบผู้ประมูลไลเซ่นส์ให้บริการเอง และยังสามารถเกิดบิสสิเนสโมเดลเช่นเดียวกับการให้บริการเครือข่าย 3G ในปัจจุบันของทีโอทีอย่าง MVNO (Mobile Virtual Network Operator) เนื่องจากกทช. ได้มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลในคลื่นความถี่ 2.3GHz ที่ไว้ให้บริการประชาชน
ล่าสุดการเปิดให้บริการไวแมกซ์ในประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นจากไวแมกซ์ โอเปอเรเตอร์ชื่อ แพคเกจ วัน (Packet One) ซึ่งเพิ่งตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2007 และเป็น 1 ใน 4 บริษัทที่ได้รับสัญญาสัมปทานในคลื่นความถี่ 2.3GHz หลังจากนั้นใช้เวลา 1ปี เพื่อเริ่มต้นให้บริการไวแมกซ์ในเมืองใหญ่ๆ หลังจากนั้น 1 ปี 10 เดือน สามารถให้บริการครอบคลุม 40% ของประชากรในประเทศ และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถครอบคลุมราว 45% และในปี 2012 จะสามารถครอบคลุมได้ถึง 60% ของประชากรภายในประเทศ
สำหรับชิปเซ็ตเชื่อมต่อไวแมกซ์ของอินเทล มีโค้ดเนมว่า Kilmer Peak ทำงานบนมาตรฐาน 802.16e รองรับคลื่นความถี่ 2.3 GHz, 2.5GHz และ 3.5GHz ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งไว-ไฟและไวแมกซ์บนชิปเซ็ตดังกล่าว
นอกจากนี้ในอนาคตถ้าการใช้งาน 4G เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเทคโนโลยีไวแมกซ์ หรือ LTE ก็ตาม อินเทลพร้อมที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่รองรับการเชื่อมต่อในทุกๆเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลาของผู้บริโภค
Company Related Link :
Intel
ที่มา: manager.co.th