ไอซีที-กทช.ประสานมือร่วมเขียนยุทธศาสตร์บรอดแบนด์ และกิจการดาวเทียมของประเทศ หลังต่างฝ่ายตามทำมานาน หวังผลักดันบรอดแบนด์ราคาถูก 99-150 บาททั่วประเทศใน 1 ปี คาดอีก 3 สัปดาห์เข้าพบ กทช.ทำข้อตกลงเป็นกรอบกว้างๆ ด้าน กทช. เผยหากเร่งผลักดันแผน 3G ทั่วประเทศสอดรับการประมูลไลเซนส์ 3G จะช่วยให้ฝันเป็นจริงเร็วขึ้น
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เข้าพบว่า ไอทีซีมีแนวทางร่วมกันกับกทช.เพื่อวางยุทธศาตร์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์แห่งชาติ และกิจการดาวเทียมของประเทศ จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้รวดเร็วและเห็นผลมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนยุทธศาสตร์บรอดแบนด์ มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จึงเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างตัวแทนของกทช.และไอซีที โดยส่วนของไอซีทีนั้น ได้มอบหมายให้นายรอม หิรัญพฤกษ์ และนายบุญมาก ศิรินวกุล ทีมที่ปรึกษารับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี การผลักดันบริการบรอดแบนด์ จะเน้นการเข้าถึงประชาชนในราคาที่เป็นธรรม และบริการคุณภาพ ซึ่งเบื้องต้น กทช.มีนโยบายจะให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (ไว-แมกซ์) ที่ราคา 99 บาทต่อเดือน ขณะที่กระทรวงไอซีที ได้มอบนโยบายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไปหาแนวทางให้บริการบรอดแบนด์เริ่มต้นที่ความเร็ว 2 เมกะบิตต่อวินาทีในราคา 150 บาทต่อเดือนทั่วประเทศ
“ในส่วนบรอดแบนด์ราคาถูก ตั้งใจว่าจะผลักดันให้เร็วที่สุด แต่เท่าที่มองคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยให้ทีโอที และ กสท เป็นผู้เริ่มดำเนินการ ส่วนจะมีเอกชนเข้าร่วมหรือไม่ ต้องดูนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้งหลังจากนี้ และคาดว่าหลังจากนี้ 3 สัปดาห์จะเข้าพบกทช.ซึ่งคาดว่าจะลงนามข้อตกกรอบกว้างๆ ของทั้ง 2 เรื่องร่วมกัน”
นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที และกทช.ยังเตรียมจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบายด้านกิจการดาวเทียมของประเทศ โดยมอบหมายให้นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ รองปลัดไอซีที ประสานงานกับกทช. ซึ่งจะมีกระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมด้วย
นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธาน กทช. กล่าวว่า หากรมว.ไอซีทีผลักดัน 3G ของทีโอทีซึ่งมีความเร็วในการให้บริการถึง 14.4 เมกะบิตต่อวินาที แม้มีการใช้งานในปริมาณมากความเร็วในการให้บริการก็ยังอยู่ที่ 5-6 เมกะบิตต่อวินาทีเป็นอย่างต่ำ
"ถ้าตรงนี้ออกมาได้เร็วก็จะช่วยให้การเข้าถึงบรอดแบนด์แบบไร้สายได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันทีโอทีมีผู้ขายส่งบริการ (MVNO) แล้ว 5 ราย ประกอบกับไลเซนส์ของกทช.จะสามารถประมูลได้ในเดือนก.ย. ก็จะช่วยให้มีผู้ประกอบการมาเพิ่มบริการบรอดแบนด์ให้กระจายออกไปยังทุกพื้นที่มากขึ้น"
ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการ กทช. กล่าวว่า คาดว่าความชัดเจนของนโยบายจะแล้วเสร็จไม่เกิน 1 เดือน โดยการผลักดันโครงการนี้ จะต้องทำควบคู่ไปกับการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น บริการไว-แมกซ์ บริการ 3.9G กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) เป็นต้น
สำหรับการทำงานร่วมกันด้านกิจการดาวเทียมนั้น กทช.จะเข้าไปสนับสนุนไอซีทีด้านเทคนิค และถือเป็นครั้งแรกที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะทำงานร่วมกันแบบคู่ขนาน โดยระหว่างนี้กทช.ได้จัดทำร่างประกาศประกอบกิจการดาวเทียมสำหรับกำกับดูแล ส่วนบริการภาคพื้นดินเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) เพื่อนำบริการบรอดแบนด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรมและคุ้มค่า
Company Related Link :
MICT
NTC
ที่มา: manager.co.th