การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจากการมาถึงของการเปิดประมูลไลเซนส์ใหม่ "มือถือ 3G" ในเดือน ก.ย. ซึ่งยักษ์มือถือทุกรายยอมตกขบวนไม่ได้โดยเด็ดขาด รวมถึงการปรับตัวต่อกฎ กติกาใหม่ที่ออกมาโดย "กทช." ชุดใหม่ ทั้งบริการ "เบอร์เดียวทุกระบบ" (mobile number portability : MNP) หรือการยกเลิกการคิดค่าบริการในเครือข่าย (on net) และนอกเครือข่าย (off net) แตกต่างกันในเดือน ส.ค.
การตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแล "กลุ่มกลยุทธ์ และกิจการองค์กร" ของดีแทค ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องถือว่าสมเหตุสมผล อย่างยิ่ง เมื่อบริบทในการดำเนินธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ การจัดทัพใหม่เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นย่อมถือเป็นเรื่องปกติ
เพียงแต่การขยับหนนี้ของ "ทอเร่ จอห์นเซ่น" ซีอีโอแห่งดีแทค ไม่เฉพาะในสายตาคนนอกที่มีปฏิกิริยาต่อความเปลี่ยนแปลงรอบล่าสุด ด้วยเป็นการขยับใหญ่ในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญสูงยิ่ง เปรียบได้กับขุนพลคุมกำลังหลักขององค์กร
โดยโยกแม่ทัพการตลาดคนสำคัญ "ธนา เธียรอัจฉริยะ" มาดูแลส่วนงาน ตั้งใหม่ และดึงผู้บริหารจากเทเลนอร์กรุ๊ป "เพ็ตเตอร์ เฟอร์เบิร์ก" มารับผิดชอบแทน
ถัดจากนั้นไม่นาน อีกหัวเรือใหญ่ที่ดูแลฝ่ายทรัพยากรบุคคล "พัตราภรณ์ สิโรดม" (รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม People) ยังย้ายไปดูแล "ดีแทคเซ็นเตอร์" พร้อมกับดึง "ฮารูน บาตตี" ผู้บริหารจากเทเลนอร์ปากีสถาน มาดูแลแทน มีผลเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ภาพการบริหารงานของดีแทคเข้ามาอยู่ในมือของผู้บริหารต่างชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตามกับตำแหน่งข้างต้น "ทอเร่" อธิบายว่าเป็นความต้องการของพัตราภรณ์เองที่อยากเรียนรู้งานใหม่ ๆ ทำให้เขาต้องหาคนมารับผิดชอบในตำแหน่งที่ว่างลง
"การเปลี่ยนแปลงในดีแทคถือเป็นเรื่องธรรมดา เราเปลี่ยนกันมาจนชิน แต่ก็เป็นธรรมดาที่ในการเปลี่ยนทุกครั้ง ทีมงานพนักงานจะรู้สึกบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวโดยเฉพาะกับการทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเทเลนอร์กรุ๊ป" ธนาบอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
"ผมนั่งทำงานในตำแหน่งใหม่ 10 กว่าวัน ยังงงอยู่ว่างานเยอะอยู่แล้ว หรือเป็น สิ่งที่เพิ่งมี เพราะใน 2 เดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะกว่าช่วง 13 ปีที่ผ่านมาและมีเวลาสั้นมาก ทั้งการประมูล 3G, เรื่องนัมเบอร์พอร์ตฯ และออนเน็ต ออฟเน็ต" ธนากล่าวและว่า
การมี MNP ทำให้เกิดการแย่งลูกค้าอย่างมหาศาล อาจเป็นสิ่งที่จะทำให้ โอเปอเรเตอร์บางรายแพ้อย่างราบคาบหรือได้มหาศาล ซึ่งไม่เฉพาะกฎระเบียบใหม่ ๆ ความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่ม สูงขึ้นมากจากการเติบโตของ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social
network) และการใช้ data ถือเป็นเรื่องที่ น่าตื่นเต้น ทุกบริษัทต้องเตรียมตัว
ฝ่ายการตลาดของดีแทคภายใต้การนำทีมของแม่ทัพคนใหม่ "เพ็ตเตอร์ เฟอร์เบิร์ก" จะเพิ่มโฟกัสไปยัง "internet business" มากขึ้น เพราะคืออนาคตของธุรกิจมือถือยุคใหม่ที่จะเป็นมากกว่าการใช้งานด้านเสียง (voice)
"ผมเคยอยู่เมืองไทยหลายปีสมัยคุณ ซิคเว่เป็นซีอีโอ ตอนนั้นผมก็อยู่ที่นี่ในตำแหน่งซีเอฟโอ จนเมื่อ 3 ปีก่อนกลับไปนอร์เวย์ ไปดูธุรกิจอินเทอร์เน็ตให้เทเลนอร์ จึงคิดว่าประสบการณ์ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นประโยชน์เมื่อได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบการตลาด" แม่ทัพการตลาดคนใหม่กล่าวและวา
ดีแทคมีแบรนด์ที่ดีอยู่แล้ว มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง มีพาร์ตเนอร์ที่ดี มีทีมงานที่มีความพร้อม สิ่งที่ต้องทำคือรักษาความแข็งแรงไว้และขับเคลื่อนต่ออย่างไร
"ความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยเป็นสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้ด้วยการเดินทางไปพบลูกค้า คู่ค้าไปต่างจังหวัดบ่อย ๆ โดยทำงานร่วมกับทีมงานที่มีความเข้าใจตลาดดีอยู่แล้ว ในแง่การทำงานไม่ใช่ทุกอย่างจะมาจากผมคนเดียว แต่จะทำงานเป็นทีม กับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เร็ว ๆ นี้เป็นความท้าทายของทุกโอเปอเร เตอร์สำหรับดีแทคโจทย์คือจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดสำหรับลูกค้า" เพ็ตเตอร์ทิ้งท้าย
จะว่าไปแล้วหลังการขายหุ้นทั้งหมด ของตระกูลเบญจรงคกุลให้กับเทเลนอร์"ดีแทค" จึงไม่ต่างจากสาขาหนึ่งของเทเลนอร์กรุ๊ปที่มีการขยายการลงทุนไปทั่วโลก อันที่จริงการพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อลดข้อจำกัดด้านภาษาและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับนอร์เวย์ เป็นสิ่งที่ทีมงานในดีแทคตระหนักรู้แล้ว กับการขยับองค์กรครั้งล่าสุดเปรียบได้กับสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งสปีดตนเองให้เร็วขึ้นอีก โดยมีบริบทในการดำเนินธุรกิจที่กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ที่มา: prachachat.net