ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรับส่งข้อความบนสมาร์ทโฟนยอดฮิต “ไลน์ คอร์ป (Line Corp.)” ยื่นเอกสารพร้อมจำหน่ายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO (Initial Public Offering) ที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว คาดการเสนอขายหุ้นไลน์จะเป็น 1 ในการเสนอขายหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบปีนี้ เบื้องต้นแหล่งข่าวระบุว่าไม่เพียงตลาดหุ้นโตเกียว ไลน์ยังมีแผนเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วยเช่นกัน สำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอลวิเคราะห์ว่า มูลค่า IPO ที่ไลน์จะเสนอขายนั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเยน หรือราว 3.13 แสนล้านบาท ความร้อนแรงของมูลค่าหุ้นไลน์เรียกความสนใจจากนักลงทุนทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไลน์เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น ผลจากการพัฒนาบริการให้มีความสามารถรอบด้านทั้งการส่งข้อความ เสียง ตัวการ์ตูนบอกอารมณ์ รวมถึงบริการเกมที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกเสพติดไลน์มากขึ้น
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ไลน์จะยื่นเอกสารเพื่อจำหน่าย IPO ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก หรือ New York Stock Exchange ด้วย ซึ่งกรอบเวลาขึ้นอยู่กับว่าเอกสารจะได้รับการอนุมัติเมื่อไร เบื้องต้นคาดว่าไลน์จะสามารถเป็นบริษัทมหาชนได้ในช่วงก่อนปลายปีนี้
ไลน์นั้นเป็นบริษัทในเครือเนเวอร์ (Naver Corp.) สัญชาติเกาหลี ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกผู้ลงทะเบียนใช้บริการมากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก คู่แข่งสำคัญของไลน์คือแอปพลิเคชันแชตอย่างวอตส์แอป (WhatsApp) ซึ่งเป็นบริษัทที่เจ้าพ่อเครือข่ายสังคม “เฟซบุ๊ก (Facebook Inc.)” ซื้อกิจการไปด้วยเงิน 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยแอปพลิเคชันวีแชต (WeChat) บริการจากบริษัทเทนเซนต์ (Tencent Inc.) สัญชาติจีนก็เป็นคู่แข่งของไลน์เช่นกัน
นอกจากญี่ปุ่น ไลน์เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากในไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย รายงานระบุว่า ฐานผู้ใช้ไลน์ในยุโรปและละตินอเมริกาก็มีอัตราเติบโตรวดเร็วเช่นกัน โดยตลาดสหรัฐฯและจีนคือตลาดถัดไปที่ไลน์มีนโยบายบุกหนักในอนาคต
ความเคลื่อนไหวของไลน์นั้นถูกจับตามองมากขึ้นหลังจากวอตส์แอปถูกเฟซบุ๊กซื้อกิจการไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้าดูว่าไลน์จะถูกขายให้บริษัทใหญ่รายใด หรือจะเข้าตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มทุนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ข่าวการยื่นเอกสารเพื่อจำหน่าย IPO ของไลน์ในครั้งนี้ จึงเป็นบทสรุปว่าผู้บริหารไลน์เลือกการเพิ่มทุนด้วยวิธีเข้าตลาดหลักทรัพย์มากกว่า ทำให้โลกต้องจับตาต่อไปว่าไลน์จะมีพัฒนาการใดน่าสนใจอีกในอนาคต
ปัจจุบัน ตลาดแอปพลิเคชันรับส่งข้อความนั้นถูกมองว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตต้องการซื้อกิจการเพื่อขยายฐานผู้ใช้ แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำเมื่อโลกได้เห็นราคาสูงลิ่วที่เฟซบุ๊กยอมจ่ายเงินซื้อวอตส์แอป สำหรับกรณีของไลน์ นักวิเคราะห์ชี้ว่าไลน์เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถทำกำไรจากบริการคอนเทนต์ของตัวเอง
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ในญี่ปุ่น รายงานระบุว่า ไลน์ร่วมมือกับบริษัทโนมูระโฮลดิงส์ (Nomura Holdings Inc.) และมอร์แกนสแตนเลย์ (Morgan Stanley) ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ที่มา: manager.co.th