การสำรวจของศูนย์ปฏิบัติการประชาชนหรือ Citizen Lab จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) พบว่าผู้ใช้บริการรับส่งข้อความสนทนาชื่อดังอย่างไลน์ (Line) ในจีนนั้นถูกปิดกั้นการแสดงความเห็นด้านการเมืองอย่างเป็นระบบผ่านแอปพลิเคชันชื่อ "เหลียนหว่อ (Lianwo)" โดยแอปพลิเคชันนี้จะตรวจจับคำคีย์เวิร์ดภาษาจีนที่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งคาดว่ามีการกำหนดคีย์เวิร์ดอันตรายมากกว่า 370 คำแล้วในขณะนี้ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการสื่อสารผ่าน Line นั้นไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ 370 คีย์เวิร์ดอันตรายที่เป็นคำอ่อนไหวด้านการเมืองซึ่งรัฐบาลจีนจะตรวจสอบบทสนทนาของ Line นั้นเริ่มมีการเปิดเผยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว The Next Web รายงานว่า Line กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบตรวจตราข้อมูลเพื่อปิดกั้นข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือเซ็นเซอร์ โดยรายงานที่เกิดขึ้นมีการอ้างข้อมูลของผู้ใช้ทวิตเตอร์นาม @hirakujira ซึ่งระบุว่าได้แกะรอยไปถึงคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของ Lianwo จนพบรายการคีย์เวิร์ดอันตราย 150 คำ ก่อนจะขยายเป็น 370 คำในขณะนี้
การสำรวจครั้งนี้ของ Citizen Lab พบว่าคีย์เวิร์ดต้องห้ามที่จะถูกเซ็นเซอร์บน Line ของผู้ใช้ในจีนนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง การวิจารณ์การเมืองท้องถิ่น และคำที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากคีย์เวิร์ด การสำรวจพบว่าแอปพลิเคชันเซ็นเซอร์ Line ยังมีผลใช้งานกับผู้ใช้ Line เวอร์ชันล่าสุดสำหรับเครื่องระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น
ทีมศึกษาของแคนาดาพบว่าหากผู้ใช้อุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในจีน ตั้งค่าขณะติดตั้ง Line เวอร์ชันใหม่ว่าเป็นเครื่องที่ใช้งานในประเทศจีน แอปพลิเคชันเซ็นเซอร์จะทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้ Line สามารถปิดกั้นการรับส่งข้อความทุกข้อความที่มีคีย์เวิร์ดต้องห้ามประกอบในประโยค
Citizen Lab พบว่ารายการคีย์เวิร์ดต้องห้ามนั้นมีการเพิ่มจาก 150 คำมาเป็น 223 คำ (ในการปรับปรุงครั้งที่ 20) และ 370 คำ (ในการปรับปรุงครั้งที่ 21) ซึ่งถือเป็นการขยายตัวของจำนวนคำที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากในช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน
แอปพลิเคชัน Lianwo นั้นถูกรายงานว่าเป็นแอปพลิเคชันในเครือ Line โดยเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างบริษัทเนเวอร์ (Naver) ต้นสังกัดของ Line และบริษัทอินเทอร์เน็ตจีนชื่อชีหู่ (Qihoo) จุดนี้การสำรวจของ Citizen Lab พบว่า Qihoo เป็นผู้จัดการรายชื่อคำคีย์เวิร์ดต้องห้ามสำหรับผู้ใช้ในจีนเท่านั้น
นอกจาก Line ทีมศึกษาแคมนาดาระบุว่าแอปพลิเคชันอย่างวีแชต (WeChat) จะเป็นพื้นที่ต่อไปที่ทีมจะขยายผลการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะทำให้โลกได้เห็นมุมมองการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชากรอินเทอร์เน็ตโลกอีกมุมหนึ่ง
Line นั้นเป็นแอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 280 ล้านคน ตลาดใหญ่ในปัจจุบันคือญี่ปุ่น ประเทศไทย และไต้หวัน โดยก่อนหน้านี้ Line ตกเป็นข่าวว่ากำลังมีช่องโหว่ทำให้การดักฟังหรือค้นหาประวัติการสนทนาย้อนหลังหลายเดือนทำได้ง่ายโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว เนื่องจากระบบแชตบน Line ไม่มีการเข้ารหัสข้อความที่ถูกรับส่งบนเครือข่าย 3G ซึ่งโอเปอเรเตอร์ไทยมีการประสานไปยัง Line เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น ท่ามกลาง Line ที่ยืนยันว่าการดักเก็บข้อมูลบน Line นั้นเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
การเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นการรับส่งข่าวสารของผู้ใช้ Line นั้นเป็นเรื่องที่ชาวไทยสนใจกันมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ระบุว่าจะจับตาการใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ Line เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันที่เจ้าหน้าที่พบว่ามีแนวโน้มการกระทำความผิดออนไลน์สูงขึ้น คำพูดนี้ได้รับการวิจารณ์อย่างหนักจากชาวเน็ตไทย ซึ่งแสดงความกังวลว่าการจับตาของ ปอท.อาจจะกระทบสิทธิมนุษยชนของไทย แม้อากิระ โมริกาวา (Akira Morikawa - ภาพบน) ประธานบริษัทเอ็นเอชเอ็นคอร์ปอเรชัน (NHN Corporation) ต้นสังกัดบริการรับส่งข้อความแชตยอดฮิตอย่าง LINE จะออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่กรุงโตเกียวว่าจะไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของตำรวจไทยจนกว่าจะมีการออกคำสั่งโดยศาลญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีไปก็ตาม
ที่มา: manager.co.th