เครื่องร่อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถบินค้างบนอากาศได้นานกว่า 5 ปีโดยไม่ต้องลงจอดของ Titan Aerospace สื่อต่างประเทศพร้อมใจตีข่าว “เฟซบุ๊ก (Facebook)” เครือข่ายสังคมเบอร์ 1 ของโลกกำลังเร่งเจรจาเพื่อซื้อบริษัท “ไตตัน แอโรสเปซ (Titan Aerospace)” บริษัทผลิตเครื่องร่อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถบินค้างบนอากาศได้นานกว่า 5 ปีโดยไม่ต้องลงจอด คาดมูลค่าซื้อขายครั้งนี้อาจสูงถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,980 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสานฝันให้เฟซบุ๊กสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลของโลกได้ สื่อแรกที่รายงานข่าวนี้คือสำนักข่าวออนไลน์ “เทคครันช์ (TechCrunch)” ซึ่งระบุว่าการเสนอซื้อกิจการ Titan Aerospace เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่คนทั่วโลกที่เฟซบุ๊กเคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ ต่อมาสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี (CNBC)” ยืนยันข่าวนี้อีกครั้ง โดยบอกว่าได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าววงในที่ใกล้ชิดกระบวนการเจรจา
แหล่งข่าวของซีเอ็นบีซียืนยันว่า มูลค่าการซื้อกิจการผู้ผลิตเครื่องร่อนหรือ “โดรน (drone)” อย่าง Titan Aerospace จะอยู่ที่ราว 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากมูลค่าดีลนี้ถูกต้องจะถือว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ของเฟซบุ๊กมีมูลค่าต่ำกว่าการซื้อกิจการออนไลน์ที่เฟซบุ๊กเคยประกาศไว้อย่างการเทเงินซื้อบริการเครือข่ายสังคมภาพ “อินสตาแกรม (Instagram)” ด้วยเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2012 ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊กในช่วงก่อนที่จะตัดสินใจซื้อกิจการแอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาอายุ 5 ปีอย่าง “วอตส์แอป (WhatsApp)” ด้วยมูลค่า 1.6-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จุดเด่นที่ทำให้เฟซบุ๊กสนใจซื้อกิจการ Titan Aerospace คือการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเครื่องร่อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถทรงตัวบนอากาศได้ต่อเนื่องนานเกิน 5 ปี ความสามารถนี้เหมาะสำหรับการนำไปเป็นสถานีสำหรับติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ทุรกันดารที่การติดตั้งเสาสัญญาณเข้าไม่ถึง จุดนี้ถือเป็นหลักการเดียวกับข่าวลือหนาหูของกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจินที่มีข่าวว่ากูเกิลจะใช้ “บอลลูนทรงเครื่องบิน” หรือเรือเหาะที่จะสามารถยิงสัญญาณ Wi-Fi วงกว้างหลายร้อยตารางไมล์ เพื่อให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายแก่ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศกลุ่มแอฟริกา และเอเชีย
กลางปี 2013 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอเมริกันตีพิมพ์รายงานซึ่งระบุว่ายักษ์ใหญ่กูเกิลกำลังสร้างเครือข่าย “แอร์โบร์น ไวร์เลส เน็ตเวิร์กส (airborne wireless networks)” เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งผู้บริการในท้องถิ่นไม่สามารถติดตั้งเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ทั่วถึง โดยข้อมูลระบุว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายของกูเกิลจะถูกสร้างในพื้นที่แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชาวแอฟริกันและชาวอาเซียนสามารถออนไลน์ได้แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
มีข่าวลือว่ากูเกิลจะใช้ “บอลลูนทรงเครื่องบิน” หรือเรือเหาะที่จะสามารถยิงสัญญาณ Wi-Fi วงกว้างหลายร้อยตารางไมล์ เพื่อให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายแก่ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศกลุ่มแอฟริกาและเอเชีย ในพื้นที่แอฟริกา รายงานของซีเน็ตระบุว่าพื้นที่เป้าหมายของกูเกิลคือ Sub-Saharan Africa หรือกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาจำนวน 48 ประเทศ มีประชากรรวมกันมากถึง 574 ล้านคน และมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมา จุดนี้มีรายงานว่าบอลลูนยิงสัญญาณ Wi-Fi ของกูเกิลซึ่งถูกเรียกเป็นแพลตฟอร์มลอยฟ้า “high-altitude platforms” จะสามารถครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยตารางไมล์ ทำให้กูเกิลสามารถเพิ่มประชากรอินเทอร์เน็ตให้โลกได้อีกด้วย 1 พันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ในขณะนี้
พื้นที่ห่างไกลในแอฟริกานี้ถือเป็นพื้นที่เดียวกับเป้าหมายที่ “มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเคยประกาศไว้เมื่อครั้งเปิดตัวโครงการ “อินเทอร์เน็ต ดอต โออาร์จี (Internet.org)” ซึ่งเป็นโครงการที่เฟซบุ๊กระบุว่าได้รับความร่วมมือจากบริษัทไอทีและโทรคมนาคมหลายรายในการช่วยเหลือให้ประชากรโลกทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึง โดยซีอีโอมาร์กระบุว่าโครงการนี้จะนำร่องก่อนที่แอฟริกาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทุกอย่างในขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันใดๆ จากยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิล หรือเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก คาดว่าทั้งคู่จะมีการประกาศความคืบหน้าโครงการอย่างเป็นทางการในปีนี้
ที่มา: manager.co.th