พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กสท.เห็นชอบแผนวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลเฟส 2 เพิ่มอีก 28 จังหวัดภายใน มิ.ย. 2558 ด้านกรมประชาสัมพันธ์คาดวางโครงข่ายไม่ทันตามกำหนด โดย กสท.อนุญาตให้สามารถนำอุปกรณ์ที่ใช้ทดลองออกอากาศนำมาให้บริการแทนก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท.เมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีมติเห็นชอบแผนการดำเนินการติดตั้ง และกำหนดการให้บริการสถานีวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในปีที่ 2 หรือแผนการวางโครงข่ายเพื่อการรับชมทีวีดิจิตอล เพิ่มอีกจำนวน 28 จังหวัด ซึ่งจะทำให้สามารถครอบคลุมการเข้าถึงการรับชมของคนไทย 80%
ประกอบด้วย วันที่ 1 ส.ค. 2557 ครอบคลุมพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เชียงราย สระแก้ว และนครสวรรค์, วันที่ 1 ต.ค. 2557 ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง และลำปาง วันที่ 1 ธ.ค. 2557 ครอบคลุมพื้นที่ จ.สกลนคร สุรินทร์ น่าน เพชรบูรณ์ และประจวบคีรีขันธ์, วันที่ 1 ก.พ. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ชุมพร ตราด มุกดาหาร และตาก, วันที่ 1 เม.ย. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ระนอง เลย ชัยภูมิ และแพร่, วันที่ 1 มิ.ย. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ จ.สตูล อุตรดิตถ์ บึงกาฬ ศรีสะเกษ และยะลา
โดยก่อนหน้านี้บอร์ด กสท.ได้มีมติถึงแผนการวางโครงข่ายเพื่อรับชมทีวีดิจิตอลในเฟส แรกไปแล้วซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ระยอง สิงห์บุรี สุโขทัย ขอนแก่น และอุดรธานี
“หลังจากมีมติอนุมัติแผนการวางโครงข่ายรับชมทีวีดิจิตอลในเฟสที่ 2 เพิ่มอีก 28 จังหวัด ซึ่งหากนับรวมกับเฟสแรกอีก 11 จังหวัด จะทำให้ภายในเดือน มิ.ย. 2558 ประเทศไทยจะสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ทั้งหมด 39 จังหวัด หรือสามารถครอบคลุมการเข้าถึงการรับชมของคนไทย 80%”
ในขณะเดียวกัน กรมประชาสัมพันธ์ หนึ่งในผู้ประกอบการโครงข่ายภาคพื้นดินสำหรับทีวีดิจิตอล (MUX) มีแนวโน้มการวางโครงข่ายล่าช้ากว่าผู้ประกอบการรายอื่น รวมถึงมีแนวโน้มไม่สามารถวางโครงข่ายในการให้บริการได้ทันการออกอากาศทีวีดิจิตอลในเฟสที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด และเฟสที่ 2 ตามระยะเวลาที่ กสท.กำหนดได้ ดังนั้น ทาง กสท.จึงจะอนุญาตให้สามารถนำอุปกรณ์ที่ปัจจุบันใช้ทดลองออกอากาศนำมาให้บริการแทนได้ก่อน เพื่อแก้ปัญหาในช่วงระยะแรก
ส่วนความคืบหน้าการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องรายการอย่างเป็นทางการนั้น ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาออกใบอนุญาต ภายหลังผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วน ได้แก่ การชำระเงิน, การเจรจาเลือกใช้บริการโครงข่ายกับผู้ให้บริการโครงข่าย และการยื่นเอกสารแบบคำขอ
พ.อ.นทีกล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากวิทยุแอนะล็อกไปสู่วิทยุดิจิตอลนั้นคาดว่าภายในช่วงปลายปีนี้ กสท.จะสามารถประกาศแผนการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนสำหรับวิทยุดิจิตอลได้ ซึ่งเบื้องต้นคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ออกอากาศวิทยุดิจิตอลจะเป็นคลื่นความถี่ของโทรทัศน์ในระบบ VHF หรือทีวีแอนะล็อกในปัจจุบัน ทำให้การเปลี่ยนผ่านของวิทยุดิจิตอลเชื่อว่าจะทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถใช้โครงข่ายที่มีอยู่ปัจจุบันของทีวีแอนะล็อกได้ในส่วนของเครื่องส่งสัญญาณและอุปกรณ์รับสัญญาณหรือเครื่องวิทยุ และเมื่อทีวีแอนะล็อกยุติออกอากาศในอีก 2-3 ปีนับจากนี้ก็สามารถนำอุปกรณ์และโครงข่ายทีวีแอนะล็อกมาออกอากาศวิทยุดิจิตอลได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติต่ออายุใบอนุญาตทีวีดาวเทียมภายหลังดำเนินการครบ 1 ปี จำนวน 41 ช่องรายการ และมี 8 ช่องรายการอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหลังมีข้อร้องเรียนการออกอากาศ โฆษณาละเมิดกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอยุติออกอากาศ 1 ช่องรายการ และใบอนุญาตหมดอายุแต่ไม่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตอีกจำนวน 5 ช่อง
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th