ปัจจุบัน แจน คูม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอวอตสแอปมีอายุ 37 ปี หลังจากเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศซื้อกิจการแอปพลิเคชันแชต "วอตสแอป (WhatsApp)" ด้วยเงิน 1.6-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ วันนี้เรื่องราวของซีอีโอผู้ก่อตั้งวอตสแอปนามว่า "แจน คูม (Jan Koum)" ชาวยูเครนนั้นเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที เนื่องจากชายผู้นี้คือผู้ถ่ายทอดดีเอ็นเอสัญชาติยุโรปตะวันออกให้กับวอตสแอป แม้ว่าที่ผ่านมา วอตสแอปจะถือสัญชาติแจ้งเกิดที่ซิลิกอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ศูนย์รวมอุตสาหกรรมไอทีในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ข้อมูลระบุว่าปัจจุบัน แจน คูม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอวอตสแอปมีอายุ 37 ปี เติบโตและใช้ชีวิตวัยรุ่นอยู่ที่ประเทศยูเครนจนกระทั่งย้ายเข้ามาอาศัยในเมาเทน วิว (Mountain View) รัฐแคลิฟอร์เนีย
ความสำเร็จของคูม ทำให้หลายคนนึกถึงเศรษฐีรายอื่นในซิลิกอน วัลเลย์ที่เป็นคนต่างถิ่นที่ย้ายเข้ามาอาศัยในซิลิกอน วัลเลย์เช่นกัน ตัวอย่างคือ แม็กซ์ เลฟชิน (Max Levchin) ผู้ร่วมก่อตั้งบริการชำระเงินออนไลน์อย่างเพย์พาล (Paypal) ที่มีสัญชาติยูเครนเช่นกัน รวมถึงเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล (Google) ที่มีเชื้อสายรัสเซียนในตัว
เช่นเดียวกับเจ้าพ่อซอฟต์แวร์อย่างบิล เกตส์ (Bill Gates) และเจ้าพ่อเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก "มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)" คูมตัดสินใจหยุดเรียนกลางคันที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองซานโฮเซ่ (San Jose State) ไม่ใช่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) อย่าง 2 เจ้าพ่อไอที
การย้ายถิ่นทำให้ครอบครัวของคูมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฟู้ด แสตมป์ (food stamps) ซึ่งเป็นการสมัครเข้ารับความช่วยเหลือค่าอาหารจากรัฐบาลอเมริกัน จุดนี้ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศบอกเล่าเรื่องราวของคูมว่าเป็นการเดินทางจากโครงการฟู้ด แสตมป์ สู่การเป็นมหาเศรษฐี
จุดเปลี่ยนของคูมอยู่ที่การตัดสินใจลาออกจากบริษัทยาฮู (Yahoo) ในปี 2007 พร้อมกับวิศวกรยาฮูที่มีทัศนคติเดียวกันอย่างไบรอัน แอคตัน (Brian Acton) ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทในปี 2009 บนแนวคิดเพื่อพัฒนาระบบรับส่งข้อความใหม่ที่ใช้งานง่าย โดยที่ผู้ใช้จะไม่ต้องวุ่นวายรำคาญใจกับโฆษณาหรือแคมเปญการตลาด
“ไม่มีใครตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกตื่นเต้นกับการได้เห็นโฆษณาเพิ่มขึ้น และไม่มีใครเก็บเรื่องโฆษณาที่จะได้เห็นในวันพรุ่งนี้ไปฝันถึง” คูมเคยเขียนข้อความนี้ไว้ในบล็อกของตัวเอง พร้อมกับโพสต์ภาพบันทึกบนโต๊ะทำงานที่เขียนด้วยลายมือเขาเองว่า “No Ads! No Games! No Gimmicks!” เพื่อสะท้อนว่าบริการของเขาจะต้องไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม และไม่มีกิมมิคใดๆให้รกตา
เรื่องนี้ จิม โกตซ์ (Jim Goetz) พันธมิตรของคูมจากกลุ่มทุน Sequoia Capital ซึ่งหนุนหลังวอตสแอป แสดงความเห็นว่าพื้นเพของคูมในยุโรปตะวันออกคือกุญแจหลักที่มีผลต่อการสร้างสรรค์วอตสแอป โดยสิ่งที่ทำให้วอตสแอปไม่เหมือนกันกูเกิลและเฟซบุ๊ก คือวอตสแอปไม่พยายามเก็บข้อมูลผู้ใช้ให้มากที่สุดอย่างที่ทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่กำลังทำ
ผู้สนับสนุนวอตสแอปยืนยันว่า บริษัทไม่เคยรวบรวมชื่อ เพศ หรืออายุของผู้ใช้ โดยข้อความจะถูกลบทิ้งจากเซิร์ฟเวอร์ทันทีที่การส่งเสร็จสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นวิธีการที่คูมสร้างสรรค์จากประสบการณ์วัยเด็กของตัวเอง เนื่องจากคูมเติบโตในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างยูเครนที่ตำรวจลับมีอิทธิพลต่อสังคมมาก ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อตั้งวอตสแอปมองเห็นคุณค่าของการสื่อสารที่ต้องไม่ขัดข้องหรือถูกสอดแนม
จุดนี้ถือเป็นปมที่คล้ายกับวัยเด็กของบริน ผู้ก่อตั้งกูเกิลที่ใช้ประสบการณ์ในรัสเซียสร้างสรรค์เป็นคติประจำบริษัทว่า "Don't Be Evil"
ก่อนหน้านี้ คูมเคยทวีตแสดงความเห็นเรื่องทางการอิหร่านและเตอร์กิซสถานปิดกั้นไม่ให้ประชาชนใช้งานวอตสแอป ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเสียหายทันทีที่มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับประเด็นโฆษณา วอตสแอปตัดสินใจใช้การเก็บค่าบริการ 99 เซนต์ต่อปีแก่ผู้ใช้รายใหม่ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าวอตสแอปจะไม่หารายได้จากการโฆษณาที่ใช้ผู้บริโภคเป็นสินค้า
ในฐานะที่เป็นประชาชนเชื้อชาติยูเครน คูมโพสต์ภาพและทวีตข้อความเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นสู่ยูเครนโดยเร็ว โดยใช้แฮชแทคว่า #ukraine #freedom ซึ่งก่อนหน้านี้ ซีอีโอวอตสแอปแสดงจุดยืนเรื่องการสนับสนุนเสรีภาพเต็มที่ด้วยการโพสต์ข้อความในปี 2013 ที่ผ่านมาว่า "WhatsApp Messenger, Made in USA. Land of the free and the home of the brave."
เพื่อบอกว่าแอปพลิเคชันวอตสแอปเป็นบริการที่สร้างในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและความกล้าหาญ.
ที่มา: manager.co.th