แฟ้มภาพสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของ Lenovo นักวิเคราะห์ฟันธง การที่เลอโนโว (Lenovo) ควักกระเป๋าซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโมโตโรลา (Motorola) จากกูเกิล (Google) จะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจของแอนดรอยด์มากที่สุด โดยเฉพาะในภาคผู้ผลิตที่ค่ายมือถืออื่นจะไม่ต้องกังวลว่ากูเกิลจะให้ความสำคัญกับโมโตโรลามากกว่า ขณะเดียวกัน กูเกิลสามารถเพิ่มจำนวนผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แอนดรอยด์รายใหญ่อีกราย ทำให้ผู้บริโภคทั่วสหรัฐฯและทั่วโลกมีทางเลือกใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น สำนักข่าวโฟลบส์รายงานผลการวิเคราะห์ดีลสะท้านโลกมูลค่า 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐจนทำให้แบรนด์โมโตโรลาตกเป็นของบริษัทจีน ว่าเป็นการปูทางให้ตลาดอุปกรณ์แอนดรอยด์เติบโตรอบด้าน และเลอโนโวจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้แอนดรอยด์สามารถสยายปีกคลุมตลาดโลกได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา
จุดนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าโมโตโรลาอยู่ในฐานะลอยตัวเมื่อต้องถูกเปลี่ยนสัญชาติ โดยชื่อที่กูเกิลตั้งให้โมโตโรลาว่า ‘Motorola - A Google Company’ นั้นง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการ ซึ่งที่ผ่านมา กูเกิลเว้นระยะไม่เข้าแทรกแซงหรือควบคุมโมโตโรลาอย่างเต็มตัว ทั้งหมดนี้คาดว่าทีมงานที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสมาร์ทโฟนโมโตโรลายุคปัจจุบันอย่าง Droids, Moto X และ Moto G จะไม่รู้สึกกดดันมากหากต้องอยู่ใต้เงาของผู้ปกครองคนใหม่อีกครั้ง
หากมองในมุมของกูเกิล นักวิเคราะห์เชื่อว่าในเวลาไม่ถึง 3 ปีที่กูเกิลซื้อกิจการโมโตโรลามา กูเกิลได้เห็นศักยภาพของโมโตโรลาที่สะท้อนออกมาในรูปผลิตภัณฑ์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาแล้ว ว่าโมโตโรลาไม่สามารถสร้างประโยชน์จากความแข็งแกร่งเรื่องการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากมาย เห็นได้ชัดจากการที่ Moto G สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดของโมโตโรลาไม่ได้ถูกวางจำหน่ายพร้อมแอนดรอยด์เวอร์ชันล่าสุดอย่าง Android 4.4 KitKat จุดนี้ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า กูเกิลแทบจะตัดสินใจได้ทันทีว่าโมโตโรลาไม่ใช่อาวุธที่กูเกิลต้องการในการขยายอาณาจักรแอนดรอยด์
ความน่าสนใจของดีลนี้ไม่ได้อยู่ที่การกำจัดภาระชื่อโมโตโรลาออกไปจากกูเกิล แต่การขายโมโตโรลากลับช่วยให้กูเกิลเสริมภาพความยุติธรรมได้ด้วย เนื่องจากการซื้อโมโตโรลาทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รายอื่นกังวลว่ากูเกิลจะให้ความสำคัญกับโมโตโรลามากกว่า จนอาจทำให้ผู้ผลิตรายอื่นเสียเปรียบในการแข่งขันบนตลาดสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์
ไม่เพียงการจบปัญหาคาใจกับผู้ผลิตรายอื่น การขายโมโตโรลายังนำผู้ผลิตระดับโลกรายใหญ่มาสู่วงจรแอนดรอยด์ได้ด้วย ที่ผ่านมา โลกมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่กี่รายที่มีศักยภาพสูงพอที่จะเข้าไปเล่นในตลาดโลกได้อย่างมีนัย แน่นอนว่าเลอโนโวคือหนึ่งในนั้น
ถึงบรรทัดนี้ ผู้ที่มีโอกาสได้รับความเสียหายจากดีลนี้คือไมโครซอฟท์ (Microsoft) เนื่องจากที่ผ่านมา เลอโนโวคือหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) คาดว่าหลังจากนี้เลอโนโวจะยังผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ต่อไป แต่จะให้ความสำคัญแอนดรอยด์มาเป็นอันดับ 1 อย่างจริงจัง
Lenovo คือส่วนเติมเต็มของ Android? หลายคนเชื่อว่าเลอโนโวจะประสบความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟนได้หลังจากควบรวมกิจการกับโมโตโรลาแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ เลอโนโวเคยซื้อธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซีของไอบีเอ็ม (IBM) และสามารถขยายธุรกิจจนครองแชมป์ผู้ผลิตพีซีอันดับหนึ่งของโลกเหนืออดีตแชมป์อย่างเอชพี จุดนี้มีความเป็นไปได้ที่เลอโนโวซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นบุกตลาดโลก จะเทเงินลงทุนให้โมโตโรลาอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นใจ เพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนได้เป็นตลาดต่อไป
แม้การเทเงิน 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐจะเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ของเลอโนโว แต่เงินจำนวนนี้ยังไม่ครอบคลุมสิทธิในการใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงสิทธิในการครองทีมวิจัยระดับสูง สิ่งที่เลอโนโวได้ไปคือความรู้และความชำนาญในการผลิตสินค้าของโมโตโรลาเท่านั้น
ผลจากการซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโมโตโรลา จะทำให้สินค้ารุ่นอื่นที่มีคิวตามหลังรุ่น Moto X และ Moto G ล้วนกลายเป็นสินค้าของเลอโนโวทันที ทั้งหมดนี้ทำให้โลกลุ้นกันมากว่า ทีมสร้างสรรค์ Moto G จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใดออกมาเปิดตลาดหลังจากได้ร่วมมือกับทรัพยากรและฐานการผลิตของเลอโนโว
ทั้งหมดทั้งปวงส่งให้ทุกฝ่ายในระบบอีโตซิสเต็มส์ของแอนดรอยด์ได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า ทั้งนักลงทุนที่ทำธุรกิจและผู้ใช้ เนื่องจากความกดดันระหว่างผู้ผลิตจะทำให้แต่ละค่ายพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีกว่า และยังต้องตั้งราคาที่ต่ำกว่าเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งเมื่อผู้ใช้หันมาซื้อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จนทำให้ตลาดโตขึ้น นักพัฒนาแอปพลิเคชันก็จะมั่นใจกับการลงทุนสร้างแอปพลิเคชันคุณภาพเพื่ออุปกรณ์แอนดรอยด์
ถึงวันนั้น ฝันร้ายจะมาเยือนแอปเปิลแน่นอน
***รู้หรือไม่ - กูเกิลซื้อหน่วยธุรกิจ Motorola Mobility ในเดือนสิงหาคม 2011 ด้วยมูลค่า 1.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะขายให้เลอโนโวด้วยมูลค่า 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนต่างการขาดทุน 9.49 พันล้านเหรียญนี้เชื่อว่าไม่ได้สร้างผลกระทบให้กูเกิลเท่าใด เนื่องจากกูเกิลสามารถขายหน่วยธุรกิจเซ็ตท็อบบ็อกซ์ (set-top box) และโรงงานบางส่วนของโมโตโรลาจนได้เงินไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านเหรียญ ขณะที่สิทธิบัตรเทคโนโลยีของโมโตโรลาที่ถูกโอนสิทธิ์เป็นของกูเกิล ยังสามารถนำไปหารายได้จากการขายไลเซนส์ต่อได้อีก ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่า มูลค่าของสิทธิบัตรที่กูเกิลได้ครอบครองจากการซื้อโมโตโรลานั้นสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าเลอโนโวพยายามบุกตลาดอเมริกาด้วยการเข้าซื้อแบล็กเบอรี่ (BlackBerry) แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เบื้องต้นมีรายงานว่าเลอโนโวตั้งเป้าขายโทรศัพท์ให้ได้ 100 ล้านเครื่อง หลังจากปิดดีลซื้อโมโตโรลาเรียบร้อย
- ในยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านเครื่องตลอดปี 2013 ซัมซุงยังเป็นขั้วอำนาจใหญ่ของโลกแอนดรอยด์ที่ครองแชมป์สมาร์ทโฟนเบอร์หนึ่งของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.3 ตามมาด้วยสมาร์ทโฟนจากค่ายแอปเปิล ร้อยละ 15.3 อันดับที่ 3 คือสมาร์ทโฟนจาก “หัวเว่ย (Hauwei)” ของจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 4.9 ตามมาด้วยแอลจี (LG) ของเกาหลีใต้ ร้อยละ 4.8 และเลอโนโวครองอันดับ 5 ด้วยร้อยละ 4.5
- ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่กูเกิลพัฒนาขึ้นนั้นเป็นระบบที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดโลก ซัมซุงคือผู้ผลิตแอนดรอยด์รายใหญ่ที่สุดซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตรายใดสามารถเทียบรัศมีได้ โดยหากมองเฉพาะตลาด 5 ประเทศใหญ่ของยุโรป แอนดรอยด์ครองตลาดร้อยละ 68.8 ขณะที่แอปเปิลตามมาเป็นที่สอง ร้อยละ 18.5 และวินโดว์สโฟนรั้งอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10
ที่มา: manager.co.th