“นพ.ประวิทย์” ชี้ทรูมูฟหัวหมอ ไม่ประชาสัมพันธ์ปิดระบบ 1800 MHz หวังแอบถ่ายโอนเงินหนีไม่ต้องจ่ายรัฐเยอะ แถมสำนักงาน กสทช.ก็ล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกัน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศเยียวยา 1800 MHz) ในประเด็นลูกค้าคงค้างในระบบ 1800 MHz ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่ายังมีลูกค้าในระบบทรูมูฟเหลืออยู่อีกราว 10 ล้านเลขหมายที่ยังไม่ยอมย้ายออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในระบบเติมเงิน (พรีเพด) โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดคงค้างในระบบมีจำนวนที่สูงอยู่นั้นเนื่องมาจากเป็นความล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีการประชาสัมพันธ์เพียงช่วงที่ใกล้หมดสัญญาสัมปทานเท่านั้นคือในช่วงเดือน ก.ย. 2556 จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นมากลับไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆ อีกเลย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองก็อาศัยความละเลยของผู้บริโภคในการเร่งแอบโอนย้ายค่ายผู้ใช้บริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แทนที่จะเร่งการประชาสัมพันธ์ให้รู้ตัวมากกว่า ซึ่งถือเป็นสิทธิผู้บริโภคหากมีการโอนย้ายค่ายไปแล้วราคาค่าโปรโมชันแพงกว่าเดิมซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยตรง
“กรณีดังกล่าวถือว่าส่งผลต่อประกาศเยียวยา 1800 MHz โดยตรง เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเยียวยาในประกาศฯ ระบุให้ต้องส่งคืนให้รัฐทั้งหมดหลังหักต้นทุนต่างๆ ที่แท้จริงของผู้ประกอบการแล้ว ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการแอบโอนย้ายโดยผู้บริโภคไม่สมัครใจถือเป็นการถ่ายโอนเงินหนี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องส่งคืนให้รัฐ ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความผิดอยู่แล้ว สำนักงานจึงต้องตระหนัก และตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยด่วน”
นอกจากนี้ ตามประกาศยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่าภายหลัง 16 ก.ย. 2557 หากยังมีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบ 1800 MHz ซิมจะดับทันที ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ กสทช. และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ผู้ใช้บริการที่ยังไม่รับทราบถึงการปิดระบบในครั้งนี้ด้วย
นพ.ประวิทย์กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการประชาสัมพันธ์ที่คาดว่าจะได้ผลมากที่สุดคือการส่ง SMS แต่ผู้ประกอบการกลับมีการส่งเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งที่จริงควรจะส่งทุกสัปดาห์ และยิ่งใกล้วันหมดช่วงเยียวยาควรจะส่งให้ถี่มากหรือทุกวันเลย ขณะที่สำนักงาน กสทช.ก็เน้นการซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์บนสื่อสิ่งพิมพ์บางสื่อแทน และไม่ได้มีการประสานความร่วมมือต่อกับผู้ประกอบการในการส่งข้อความใหม่ทาง SMS
“ปัญหาอีกอย่างคือผู้ถือซิม 1800 MHz บางคนไม่ได้ใช้กับโทรศัพท์มือถือแต่ใช้กับอุปกรณ์ชนิดอื่น อาทิ ไอแพด อุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่โดยเฉพาะใกล้หมดช่วงเยียวยา”
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th