เอไอเอสเปิดตัว AIS mPAY Rabbit อย่างเป็นทางการ ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้มือถือแทนกระเป๋าสตางค์ในการซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับแรบบิทได้กว่า 40 แบรนด์ 700 จุด แต่ยังคงใช้งานได้แค่ซัมซุงเพียง 6 รุ่น ตั้งเป้าบริการไว้ที่ 1 แสนรายใน 1 ปี คาดรายได้ปีนี้เอ็มเปย์กว่า 700 ล้านบาท นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสเปิดให้บริการ AIS mPAY Rabbit อย่างเป็นทางการหลังจากได้แนะนำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ไปตั้งแต่เดือนเมษายน โดยได้จับมือกับพาร์ทเนอร์อย่างแรบบิทและซัมซุง ในการนำเทคโนโลยี NFC ในรูปแบบของซิมการ์ดที่ลูกค้าสามารถเปลี่ยนซิมให้เป็นกระเป๋าสตางค์ สำหรับซื้อสินค้าและบริการ ตั้งเป้า 1 ปี จะมีลูกค้า AIS mPAY Rabbit ประมาณ 100,000 ราย คาดหากมีร้านค้าแรบบิทเพิ่มขึ้นโอกาสในการใช้งานก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันเอไอเอสมีลูกค้าเอ็มเปย์ประมาณ 9 แสนกว่าราย มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องประมาณ 3-4 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 เท่าตัว โดยมียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ประมาณ 6 พันล้านบาทต่อเดือน และคาดว่าในปีนี้จะมียอดใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งการใช้งานนี้ 50% เป็นการเติมเงินของเอไอเอส และที่เหลืออีก 50% เป็นการชำระค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต โอนเงินถอนเงิน ต่างจากในอดีตที่ 90% เป็นการใช้จ่ายด้านบริการของเอไอเอส แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปใช้บริการอื่นๆมากขึ้น
'การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้ใช้สามารถใช้งานดาต้าได้รวดเร็วขึ้น การใช้แอปพลิเคชันทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ยอดการใช้งานเอ็มเปย์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้จ่ายที่หลากหลายตามไปด้วย โดยยอดการเติมเงินเอ็มเปย์ของลูกค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 กว่าบาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าในปีนี้รายได้ของเอ็มเปย์จะมากกว่า 700 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดมาจากค่าธรรมเนียมการให้บริการ'
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในเรื่องการใช้บริการที่เกี่ยวกับด้านการเงินนั้น เป็นสิ่งที่เอไอเอสคำนึงถึงมาโดยตลอด ซึ่งเอ็มเปย์เปิดให้บริการมากว่า 7 ปีแล้ว จึงมีการพัฒนาด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเอ็มเปย์มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับการทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ซึ่งระบบหลังบ้านนั้นได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์หลายด้าน โดยได้มีการลงทุนพัฒนาระบบนี้ในหลักสิบล้านบาท
สำหรับการทำงานร่วมกับซัมซุงนั้น เนื่องจากซัมซุงมีความพร้อมและมีความต้องการที่ตรงกัน ประกอบกับต้องใช้เวลาในการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกันเป็นเวลานานจึงต้องจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่พร้อมทุกด้าน ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าเอไอเอสประมาณ 4-5 แสนรายที่ใช้สมาร์ทโฟนของซัมซุงที่สามารถใช้งานได้ในปัจจุบัน ซึ่งนับจากนี้เอไอเอสจะดึงให้ลูกค้าที่ใช้งานซัมซุงและแรบบิทเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยลูกค้าสามารถนำมือถือซัมซุงรุ่นที่รองรับเทคโนโลยี NFC ในระบบเอไอเอส 3G 2100 แตะเพื่อการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส รถโดยสารบีอาร์ที และสามารถใช้ในการซื้อของและรับบริการจากร้านค้าที่ร่วมให้บริการกับแรบบิท
'ลูกค้าสามารถเปลี่ยนหรือซื้อซิมเพื่อใช้บริการได้ที่เอไอเอส ช็อป ทุกสาขาในกรุงเทพฯตั้งแต่ 1 พ.ย.56 เป็นต้นไป และสามารถดาวน์โหลด mPAY App 2.0 เวอร์ชันใหม่ล่าสุดบนมือถือผ่านทาง Play Storeนอกจากนี้ เอไอเอสจะมีภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์และรถไฟฟ้าเพื่อสื่อสารการตลาด และได้ทำร้าน AIS mPAY Rabbit บนสถานีรถไฟฟ้าหลัก 5 สถานี'
ด้านนางสาวชุณหพร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม ผู้ให้บริการ แรบบิท กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวนี้ลูกค้าจะสามารถใช้ชำระเงินกับร้านค้าต่างๆ ที่ร่วมให้บริการซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 40 แบรนด์ กว่า 700 จุด โดยไม่ต้องพกบัตรรถไฟฟ้าหรือบัตรแรบบิทแบบเดิม เพราะมีมือถือที่สามารถใช้งาน AIS mPAY Rabbit อยู่กับตัว ดังนั้นลูกค้าที่ใช้ซิมนี้จะได้รับความสะดวกในการเดินทาง และบางผลิตภัณฑ์ก็สามารถใช้ในต่างจังหวัดได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา โดยได้เริ่มเข้าไปในคอนวีเนียนสโตร์อย่าง โลตัส เอ็กซ์เพรส มินิบิ๊กซี และเตรียมเข้าไปในฟูดคอร์ดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ คาดว่าปีหน้าจะสามารถขยายได้ 1500 จุดรับทั่วประเทศ
ด้านนายสิทธิโชค นพชินบุตร ผู้อำนวยการ ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าวว่า การใช้งาน ซัมซุง NFCแค่ นำไปแตะใกล้ๆ จะสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น และสามารถมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคคนไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งซัมซุงมีสมาร์ทโฟนที่รองรับ NFC ตั้งแต่ระดับราคา 4 พันกว่าบาท ก็สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยสมาร์ทโฟนซัมซุงที่สามารถใช้งาน AIS mPAY Rabbit ได้ในขณะนี้มี 6 รุ่นคือ การแลคซี่ โน้ต2 กาแลคซี่ โน้ต3 กาแลคซี่ เอส3 กาแลคซี่ เอส3มินิ กาแลคซี่ เอส4 และกาแลคซี่ เฟม
Company Related Link :
AIS mPAY
ที่มา: manager.co.th