ข้อความเตือนผู้ใช้ให้ทราบว่าการตั้งค่า "Who can look up your Timeline by name?" ที่ผู้ใช้เคยเลือกไว้ ถูกยกเลิกแล้วเบื้องต้นเฟซบุ๊กแนะนำให้คลิกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติมทุกครั้งโพสต์การตั้งค่าอนุญาตว่าใครสามารถเปิดชมโพสต์นั้นได้ (audience of posts) ชาวเฟซบุ๊ก (Facebook) หมดสิทธิ์ปิดกั้นชื่อตัวเองออกจากระบบเสิร์ช เพราะล่าสุดเฟซบุ๊กยกเลิกระบบตั้งค่าที่ทำให้ชาวโซเชียลสามารถปกป้องตัวเองไม่ให้ระบบเสิร์ชของเฟซบุ๊กแสดงข้อมูลแก่คนแปลกหน้าที่ใส่คำค้นหาด้วยชื่อ เบื้องต้นเฟซบุ๊กให้เหตุผลว่าระบบตั้งค่าที่ยกเลิกไปนั้นสร้างความสับสนและไม่เหมาะสมในการใช้งาน โดยแนะให้ผู้ใช้เลือกบล็อก (block) หรือปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้เฉพาะรายเห็นโปรไฟล์จากระบบเสิร์ชแทน ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กสามารถตั้งค่าไม่ให้คนแปลกหน้าได้เห็นประวัติหรือโปรไฟล์บนเฟซบุ๊กด้วยการเลือกที่คุณสมบัติ "Who can look up your Timeline by name?" ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกว่าอนุญาตให้ใครสามารถเห็นโปรไฟล์จากการค้นหาด้วยชื่อหรือนามสกุล ปรากฏว่า 10 ตุลาคม 2013 เฟซบุ๊กประกาศดีเดย์เริ่มยกเลิกการตั้งค่าที่ผู้ใช้เคยตั้งไว้ และคาดว่าจะมีผลต่อผู้ใช้ทุกคนในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้
การยกเลิกระบบตั้งค่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการประกาศเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว โดยช่วงปลายปี 2012 เฟซบุ๊กประกาศยกเลิกคุณสมบัตินี้สำหรับคนที่ไม่ได้มีการตั้งค่าใดๆไว้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือเฟซบุ๊กจะยกเลิกการตั้งค่าที่ผู้ใช้เคยเลือกไว้ จุดนี้เฟซบุ๊กยืนยันว่ามีผู้ใช้คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยตั้งค่าคุณสมบัตินี้
เฟซบุ๊กระบุว่า แต่เดิม คุณสมบัตินี้จะช่วยปกป้องไม่ให้ข้อมูลผู้ใช้ปรากฏเมื่อคนแปลกหน้าพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลลงในแถบค้นหา ทั้งข้อมูลเช่นความเคลื่อนไหวหรือไทม์ไลน์ (Timeline) และข้อมูลประวัติโปรไฟล์ แต่จะไม่มีการปกป้องเมื่อผู้ค้นหาเป็นเพื่อนหรือ friend กับผู้ใช้รายนั้น ขณะเดียวกัน คุณสมบัตินี้ถูกสร้างมาก่อนที่เฟซบุ๊กจะเปิดให้บริการค้นหา Graph Search และการปรับโครงสร้างข้อมูลบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กเชื่อว่าคุณสมบัตินี้ทำให้เกิดความสับสนมากกว่าจะเกิดประโยชน์
คำว่าไม่เกิดประโยชน์ของเฟซบุ๊กนี้หมายถึง คุณสมบัตินี้ไม่เคยปกป้องข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ใช้จากคนแปลกหน้า เนื่องจากชาวเฟซบุ๊กสามารถคลิกที่ชื่อผู้ใช้บนข้อความอัปเดทสถานะเพื่อเปิดชมไทม์ไลน์ของทุกคนได้อยู่แล้ว (ไม่ต้องพิมพ์ชื่อเพื่อค้นหา) ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เฟซบุ๊กจึงตัดสินใจยกเลิกคุณสมบัตินี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กทุกคนสามารถค้นหาชื่อสมาชิกรายใดก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดผ่านบริการ Graph Search
โดยไม่เพียงโปรไฟล์ แต่ยังสามารถค้นหาข้อความสถานะหรือ status update รวมถึงการค้นหากลุ่มเปิด (open group) ที่จะทำให้ผู้ค้นหาได้เห็นภาพโปรไฟล์และสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการค้นหา Graph Search ของเฟซบุ๊กที่สามารถค้นหาบุคคลได้โดยใช้วลีภาษาพูด เช่น "People who live in Seattle" วลีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถรู้ว่าใครอาศัยในเมืองซีแอตเทิลบ้าง
เฟซบุ๊กระบุว่า ทางที่ดีที่สุดที่ชาวเฟซบุ๊กจะควบคุมว่าใครสามารถค้นหาข้อมูลใดได้บ้าง คือการเลือกว่าใครสามารถมองเห็นเรื่องหรือข้อมูลเฉพาะอย่างที่ถูกแชร์ไว้ ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนเพื่อให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่ารอบเดียว ด้วยการตั้งค่าเฉพาะข้อมูลที่เผยแพร่ไปว่าเปิดให้ใครอ่านได้บ้าง ซึ่งเชื่อว่าจะลดความสับสน และทำให้การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ทำได้ง่ายขึ้น
เฟซบุ๊กย้ำว่าจะมีการเตือนผู้ใช้ให้ทราบว่าการโพสต์ข้อความที่ตั้งไว้เป็นสาธารณะ (public) จะสามารถถูกอ่านได้โดยทุกคน รวมถึงผู้ใช้รายอื่นที่ไม่รู้จักกับผู้โพสต์เป็นการส่วนตัว แต่ข้อมูลไทม์ไลน์จะสามารถถูกปิด ไม่ให้แสดงกับบุคคลที่ผู้ใช้เลือกบล็อกไว้ได้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานความเห็นจากนักพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลว่าการปิดคุณสมบัตินี้จะเกิดผลเสียต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กอย่างไร แต่เบื้องต้นเฟซบุ๊กแนะนำให้คลิกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติมทุกครั้งโพสต์ และการตั้งค่าอนุญาตว่าใครสามารถเปิดชมโพสต์นั้นได้ (audience of posts) เพิ่มเติม
สามารถอ่านรายระเอียดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเฟซบุ๊ก
ที่นี่ที่มา: manager.co.th