ซาซาเอะ-ซัง การ์ตูนเรื่องสุดท้ายที่ใช้เทคนิคการวาด และลงสีด้วยมือมิจิโกะ ฮาเซกาว่าซาซาเอะ-ซัง ฉบับดั้งเดิมโดราเอมอนจิบิ มารุโกะ-จัง อนิเมชั่นสำหรับฉายทางโทรทัศน์ที่ถือว่าออกอากาศมายาวนานที่สุดในโลกอย่าง "ซาซาเอะ-ซัง" ได้เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการวาด และลงสีด้วยมือ ไปเป็นวิธีวาดภาพด้วยดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบในต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการปิดฉากยุคสมัยของ "การ์ตูนที่วาดด้วยมือ" ของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้ ซาซาเอะ-ซัง ที่ออกอากาศมาถึง 2,250 ตอน คือการ์ตูนทางโทรทัศน์เรื่องเดียว และเรื่องสุดท้ายของญี่ปุ่นที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยการวาดมือล้วน ๆ จากเทคนิค "เซลแอนิเมชั่น" (Cel Animation: การวาดภาพด้วยมือลงบนแผ่นเซลใสทีละแผ่น) จนกระทั่ง มีการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการวาดและลงสีเพิ่มขึ้นในปี 2005 อย่างไรก็ตาทล่าสุดผู้สร้างได้ตัดสินใจที่จะผลิต ซาซาเอะ-ซัง ด้วยวิธีดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ตอนในวันที่ 6 ต.ค. นี้เป็นต้นมา
ตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีบริษัทผลิตแอนิเมชั่นในญี่ปุ่นหลายแห่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการวาดด้วยมือ มาเป็นการวาดและลงสีในคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการ์ตูนดัง 2 เรื่องที่พยายามรักษาวิธีการสร้างแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้นานที่สุดอย่าง จิบิ มารุโกะ-จัง และ โดราเอมอน แต่สุดท้ายผลงานทั้งสองเรื่องก็ต้องหันมาผลิตด้วยวิธีดิจิตอลในปี 1999 และ 2002 ตามลำดับ
ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการแอนิเมชั่นญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Studio Ghibli, Sunrise และ Toei Animation ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีแบบดิจิตอลมาตั้งแต่ยุค 90s แล้ว แต่สำหรับบริษัทที่เกิดขึ้นภายหลัง อาทิ Gonzo และ Satelight นั้นเลือกผลิตงานด้วยวิธีดิจิตอลมาตั้งแต่เริ่มแรกเลย
ปัญหาใหญ่ของเทคนิค เซลแอนิเมชั่น นอกจากการต้องพึ่งพิงทีมงานและเวลามากเกินไปแล้ว ก็คือการให้ภาพที่ไม่คมชัด ซึ่งจะเป็นปัญหามากในยุคที่ระบบของโทรทัศน์ได้เปลี่ยนมาสู่ยุคของภาพความคมชัดพิเศษแล้ว ทั้งภาพที่ไม่ชัดเจน, สีเพี้ยน, มีความสั่นไหวเกิดขึ้นในฉากที่มีการเคลื่อนไหวมาก ๆ นอกจากนั้นยังมีปัญหาไฟฟ้าสถิตที่ทำให้เกิดฝุ่นติดเข้ามาในแผ่นใสด้วย หากต้องการเพิ่มความคมชัดในภาพ และฉากเคลื่อนไหว ก็ต้องเพิ่มกำลังคน และเวลาเข้าไปอีก
ก่อนหน้านี้ ซาซาเอะ-ซัง คือผลงานที่พยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาโดยตลอด โดย โยอิจิ ทานากะ หัวหน้าแผนกของสตูดิโอ Eiken ผู้ผลิตการ์ตูนเรื่องนี้ ได้กล่าวว่าแม้วิธีการสร้างงานแบบเซลแอนิเมชั่นจะมีข้อด้อยมากกว่า แต่เขาก็คิดว่าวิธีโบราณแบบนี้ให้ภาพที่อบอุ่นมากกว่า เป็นภาพที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคุ้นเคย และปลอดภัย
อย่างไรก็ตามกลุ่มทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง ซาซาเอะ-ซัง ก็ยอมรับว่าการสร้างแอนิเมชั่นด้วยวิธีเดิมทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทีมงานที่สามารถสร้างสรรค์งานลักษณะนี้ได้เริ่มแก่ตัวลงเรื่อย ๆ Eiken และสตูดิโอที่ผลิตงานด้วยวิธีวาดมือต้องใช้ทีมงานประมาณ 120 คน โดยต้องมีการถ่ายงานประมาณ 20-30% ไปให้บริษัทในเมืองจีนเป็นผู้ช่วยวาด
ในเวลาเดียวกันเมื่อมีงานแบบดั้งเดิมน้อยลงเรื่อย ๆ สตูดิโอที่รับวาดภาพการ์ตูนแบบเก่าก็มีรายได้น้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน
บริษัทเก่าแก่อย่าง Taiyō Shikisai ที่เคยมีส่วนร่วมในการวาดผลงานเรื่อง Kiki's Delivery Service ของ Studio Ghibli เคยมีรายได้จากการวาดแอนิเมชั่นประมาณ 20 ล้านเยนต่อเดือน แต่ตอนนี้กลับมีรายได้เพียง 500,000 เยนต่อเดือนเท่านั้น ถึงกระนั้น ชิเกจิ คิตามูระ ที่เป็นหัวหน้าของ Taiyō Shikisai ก็ยังกล่าวอย่างหนักแน่นว่า "นี่คือวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เราจะวาดภาพต่อไป แม้จะต้องลดผลกำไรลงบ้างก็ตาม"
แต่สุดท้ายหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของรูปแบบการผลิตแอนิเมชั่นแบบดั้งเดิมอย่าง ซาซาเอะ-ซัง ก็ไม่สามารถต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป
....................
ซาซาเอะ-ซัง เป็นผลงานเก่าแก่ของ "มิจิโกะ ฮาเซกาว่า" ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงคนแรกของญี่ปุ่น เป็นงานเล่าเรื่องชีวิตของสาววัย 24 ปี "ซาซาเอะ ฟุงุตะ" ที่คิดอะไรไม่ค่อยเหมือนผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งไม่ใช่ใส่กิโมโน และทำให้สามีปวดหัวอยู่เป็นประจำ
โดยผลงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่จังหวะซะงะบ้านเกิดของผู้เขียน ก่อนจะโด่งดังในระดับชาติ เมื่อได้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิพม์ Asahi Shimbun ในปี 1949 จนถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครวิทยุเมื่อปี 1955 และเป็นผลิตเป็นการ์ตูนฉายทางโทรทัศน์ในปี 1969 ซึ่งยังคงออกอากาศมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นผลงานเรื่องนี้ก็ยังมีเผยแพร่ในตะวันตกภายใต้ชื่อ The Wonderful World of Sazae-san ด้วย
ที่มา: manager.co.th