แฟ้มภาพชาวออนไลน์ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ การสำรวจล่าสุดพบว่าเกาหลีใต้คือประเทศอันดับ 1 ในด้าน ICT เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันTop 20 ของดัชนีการเติบโตด้าน ICT (ICT Development Index หรือ IDI) ที่จัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แถลงตัวเลขสถิติและการจัดอันดับ
ล่าสุดด้านการเติบโตของ ICT ในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยพบว่าเกาหลีครองอันดับ 1 ในด้าน ICT เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 95 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 94 เชื่อปลายปี 2556 ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเท่ากับ 2.7 พันล้านคน คิดเป็น 40% ของจำนวนประชากรโลก ในขณะที่อีกกว่า 1.1 พันล้านครัวเรือน หรือเทียบเท่ากับ 4.4 พันล้านคน ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต รายงานประจำปีของ ITU เรื่องดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศปี 2556 ยังแสดงให้เห็นว่าบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (mobile broadband) ในปัจจุบันมีราคาถูกกว่าบรอดแบนด์แบบพื้นฐาน ส่งให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเนื่องจากปัจจุบันประชากรเกือบทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยรายงานระบุว่า 30% ของคนวัยหนุ่มสาวจากทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่กับโลกดิจิตอลตั้งแต่เด็ก (digital natives)
ที่สำคัญ การสำรวจพบว่าบรอดแบนด์ความเร็ว 2 Mbps เป็นแพกเกจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีการลงทุน (CAPEX) มากที่สุดในปี 2551 และลดลงหลังจากนั้น จนปัจจุบันการลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคมยังไม่มากเท่าในปี 2551
ดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศปี 2556 แสดงให้เห็นว่าการใช้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมีอัตราการเติบโตสูงสุดในตลาด ICT โลก จากตัวเลขล่าสุดได้เผยให้เห็นถึงอุปสงค์ในการใช้บริการรวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆขณะที่ราคาค่าบริการทั้งระบบโทรศัพท์มือถือและบรอด์แบนด์ลดลงอย่างต่อเนื่อง การใช้งานระบบ 3G มีอัตราการเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
"ปลายปี 2556 จะมียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ถึง 6.8 พันล้านคน น้อยกว่ายอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่จะเพิ่มเป็น 2.7 พันล้านคนในปีนี้"
การเชื่อมต่อเครือข่าย 3G และ 3G+ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 40% ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้ใช้งานในระบบบรอดแบนด์เคลื่อนที่ถึง 2.1 พันล้านคน หรือเท่ากับอัตราการเข้าถึงทั่วโลก (global penetration rate) ที่ 30% ปัจจุบันเครือข่าย 3G ได้ครอบคลุมผู้ใช้บริการจำนวนถึงเกือบ 50% จากประชากรทั่วโลก
***เกาหลีใต้ แชมป์พัฒนา ICT รายงานของ ITU เผยให้เห็นว่าสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาและการเติบโตด้าน ICT โดยรวมเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ตามมาด้วย สวีเดน ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และนอร์เวย์
ประเทศเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ลักเซมเบิร์ก และฮ่องกง เป็นประเทศที่อยู่ในสิบอันดับแรก (top 10) โดยสหราชอาณาจักรขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มสิบอันดับแรก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อนหน้านี้
ดัชนีการเติบโตด้าน ICT (ICT Development Index หรือ IDI) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้จัดอันดับกลุ่มประเทศทั้งหมดจำนวน 157 ประเทศ โดยวัดระดับความสามารถใน 3 ด้าน คือด้านการเข้าถึง (access index) การใช้งาน (use index) และทักษะผู้ใช้ (skills index) และเปรียบเทียบคะแนนระหว่างปี 2554 และปี 2555 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากภาครัฐหน่วยงานสหประชาชาติ และภาคอุตสาหกรรม ว่ามีความน่าเชื่อถือและถูกต้องในการวัดความเติบโตด้าน ICT ของประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 95 จากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 94 ขณะที่สิงคโปร์ครองอันดับที่ 15 มาเลเซีย 59 จีน 78 และเวียดนาม 88
นัยสำคัญของการจัดอันดับ IDI คือศักยภาพระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดย 30 อันดับแรกของ IDI คือประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (high-income countries) แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างรายได้และการเติบโตด้าน ICT แถมค่า IDI เฉลี่ยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีความแตกต่างอย่างมากกับค่า IDI เฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยต่างกันถึงสองเท่า
กลุ่มประเทศที่มีการไต่อันดับสูงสุด (most dynamic countries) โดยมีอันดับ IDI สูงขึ้นมากที่สุดจากปีที่ผ่านมา ได้แก่ (เรียงตามลำดับจากประเทศที่มีการไต่อันดับสูงสุด) สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์เลบานอน บาร์เบโดส เซเชลล์ เบลารุส คอสต้า ริก้า มองโกเลีย แซมเบีย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ โอมาน และซิมบับเว
***ราคาเน็ตบ้านถูกลง 82% ผลการวิเคราะห์แนวโน้มในด้านราคาของการให้บริการบรอดแบรนด์ในกว่า 160 ประเทศ เผยให้เห็นว่าในช่วงระหว่าง 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2551 – 2555 ราคาค่าบริการบรอดแบรนด์แบบพื้นฐาน (fixed-broadband prices) ได้ลดต่ำลงถึง 82% จากที่มีราคาอยู่ที่ 115.1% ของค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรในประเทศต่อหัวต่อเดือน (average monthly income per capita, GNI p.c.) ในปี 2551 มาอยู่ที่ 22.1% ในปี 2555
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีการลดลงของค่าบริการบรอดแบรนด์แบบพื้นฐานมากที่สุด โดยลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณ 30% ต่อปี ในระหว่างปี 2551 – 2554 โดยค่าเฉลี่ยราคาต่อหน่วยความเร็ว (Mbps) ลดลงอย่างชัดเจน เช่นในปี 2555 มีราคาค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่US$ 19.50 per Mbps ซึ่งเกือบจะเท่ากับ 1 ใน 4 ของราคาค่าบริการในปี 2551
การสำรวจยังพบด้วยว่า เกือบ 80% ของครัวเรือนทั่วโลกมีทีวี เทียบกับ 41% ของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ และ 37% ของครัวเรือนที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดย 1.1 พันล้านครัวเรือนทั่วโลกยังไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่ง 90% ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
*** 'อนุดิษฐ์' ชี้คนไทยเข้าถึงบรอดแบนด์ 30 ล้านครัวเรือน สำหรับในประเทศไทยนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีกล่าวว่า รายงานล่าสุดของกระทรวงไอซีทีในเดือนต.ค.นี้พบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เพิ่มเป็น 30 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึง 50% ของจำนวนประกรในประเทศ โดยเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 20% ที่มีอัตราการเข้าถึง 37% หรือ 26.5 ล้านครัวเรือน และในปี 2554 มีอัตราการเข้าถึง 12% ของจำนวนประชากร หรือ 9 ล้านครัวเรือน
ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การเปิดให้บริการ 3G ของผู้ประกอบการเอกชน ทำให้มีการใช้งานโมบายบรอดแบนด์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเมินว่า ทั้ง 3 ผู้ประกอบการเอกชนรวมกันมีคนใช้งานราว 20 ล้านราย 2.ราคาของสมาร์ทโฟน ,แท็บเล็ต และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างๆมีราคาถูกลง และ3.การเปิดให้บริการ ฟรี ไว-ไฟ ของไอซีทีที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี และแอปพลิเคชั่นใหม่ๆที่เปิดให้บริการฟรี อาทิ Line ซึ่งเป็นแอปที่สามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารทางไกลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น และในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันก็มีราคาที่ถูกลงกว่าในอดีตมาก
สำหรับในเรื่องของการให้บริการฟรี ไวไฟนั้นไอซีทีมีแผนที่จะขยาย ไว-ไฟเพิ่มให้ครบ 310,000 จุดภายในปี 2557 ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดให้บริการแล้วจำนวน 140,000 จุดจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ4 รายได้แก่เอไอเอส กลุ่มทรู ทีโอที และกสท โทรคมนาคม ขณะที่ดีแทคจะเน้นการเปิดให้บริการไว-ไฟฟรีตามโรงเรียน และโรงพยาบาล ส่วนที่กระทรวงไอซีทีดำเนินการติดตั้งจุดให้บริการเองอีกจำนวน 150,000 จุดภายใต้งบประมาณที่ได้รับจากกองทุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 950 ล้านบาทซึ่งมีกรอบเวลาราว 4 ปีและของกสท โทรคมนาคมที่จะติดตั้งเพิ่มอีกประมาณ 20,000 จุดในปีหน้า
ที่มา: manager.co.th