เอไอเอส ลุยเปิดให้บริการ 'AIS mPAY MasterCard' ดึงคนที่ต้องการใช้จ่ายออนไลน์แต่ไม่มีบัตรเครดิต ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คาดลูกค้าเอ็มเปย์เพิ่มเท่าตัวภายใน 1 ปี นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่่าวว่า ทางเอไอเอสได้เห็นแนวโน้มของการใช้จ่ายบนออนไลน์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งถ้านับถึงบริการโมบาย เพย์เมนต์ของเอไอเอสก็เปิดให้บริการมากว่า 8 ปีแล้ว การร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้ก็ถือเป็นการต่อยอดเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า
"มูลค่าตลาดของการใช้จ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 15 - 20% ในทุกๆปี ซึ่งในส่วนนี้ยังมีผู้บริโภคอีกหลายรายที่ไม่มีโอกาสได้ใช้งานเพราะไม่มีบัตรเครดิต"
บริการ AIS mPAY MasterCard เป็นบริการที่เอไอเอส ร่วมมือกับ มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ , ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ในการเปิดให้บริการพรีเพดการ์ด สำหรับใช้งานธุรกรรมออนไลน์ กับร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากมาสเตอร์การ์ดกว่า 1 หมื่นรายภายในประเทศ
โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่มคือ ลูกค้าที่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว แต่กังวลว่าเว็บไซต์ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือต้องการจำกัดวงเงินในการใช้ ก็เปิดบริการนี้มาใช้งาน อีกกลุ่มคือ กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือไม่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ และสุดท้ายกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นยุคใหม่ตั้งแต่ 7 ขวบ (มีบัตรประชาชน เปิดหมายเลขโทรศัพท์มือถือ) ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น
นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการเอ็มเปย์อยู่แล้วราว 4-5 แสนราย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานต่อเนื่อง (แอคทีฟยูสเซอร์) ราวเดือนละ 2.5 แสนราย และจากบริการ AIS mPAY MasterCard คาดว่าจะช่วยให้ลูกค้าปัจจุบันมีการใช้งานมากขึ้น
"เบื้องต้นจะโฟกัสลูกค้าเดิมที่อาจจะมีการใช้งานน้อยอยู่ ให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าเอ็มเปย์เป็น 1 ล้านราย ภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าสัดส่วนผู้ใช้งานต่อเนื่องยังอยู่ที่ 50 - 60% ก็จะมีลูกค้าใช้งานเพิ่มประมาณเท่าตัว"
อย่างไรก็ตามบริการของ เอ็มเปย์ จะมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบราว 7 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้แก่บริษัทประมาณ 450 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้เป็น 500 ล้านบาท ซึ่งจะยังไม่ร่วมถึงรายได้ที่เกิดจากบริการของมาสเตอร์การ์ด
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นตอนนี้คือยังใช้บริการได้เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากใบอนุญาตที่ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ออกให้แก่ทางเอไอเอส กำหนดเงื่อนไขให้สามารถทำธุรกรรมเฉพาะภายในประเทศ จึงต้องรอให้มีการแก้ไขประกาศดังกล่าวก่อน
"ยิ่งถ้าลูกค้าสามารถใช้งานต่างประเทศได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะจากร้านค้าหมื่นร้าน ก็จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ทั่วโลกกว่า 3 ล้านค้าที่เป็นสมาชิกของมาสเตอร์การ์ดด้วย"
ทั้งนี้บริการ AIS mPAY MasterCard จะจำกัดวงเงินในการเติมเงินไว้ที่ 30,000 บาท โดยลูกค้าจะได้รับสิทธิเติมเงินฟรี 5 ครั้งต่อเดือน หลังจากนั้นคิดค่าบริการครั้งละ 5 บาท ซึ่งจะไม่มีกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ และไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้งานต่อปี
Company Relate Link :
AIS
ที่มา: manager.co.th