กสท ส่งหนังสือด่วนค้านคำสั่งกทค.ไม่ชอบด้วยกฏหมาย หลังมีคำสั่งแก้ไขสัญญาแนบท้ายใบอนุญาตประเภทที่3 เช่นเดียวกับประกาศเยียวยา1800 MHz ก็ออกมาเอื้อเอกชน ยันเตรียมฟ้องศาลปกครอง นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสิรฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าบอร์ดกสทมีมติให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องคัดค้านการแก้ไขเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท ที่ 3 กรณีการกำหนดมาตรการรองรับการสิ้นสุด การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเพื่อมิให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ
เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครองไปยังผู้รับใบอนุญาตประเภทที่ 3 คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที ให้ดำเนินการแก้ไขเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตสำหรับเป็นมาตรการรองรับภายหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน โดยหนังสือที่ออกไปจะเป็นคำสั่งทางปกครอง หากไม่ยินยอมทำตามก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล
โดยเงื่อนไขที่ให้ปรับปรุงมี 2 ข้อ คือ 1.การแจ้งเงื่อนไขและข้อปฎิบัติให้ผู้ร่วมการงานทราบ โดยทีโอที และกสท ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.ตั้งแต่ปี 2549 จนถึง ปี 2568 ต้องแจ้งให้ผู้ร่วมการงาน หรือสัมปทานรับทราบ และแจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนสัมปทานสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 90 วัน พร้อมจัดทำแผนและมาตรการรองรับประกอบกิจการ เพื่อไม่ให้กระทบถึงผู้ใช้บริการ และ 2. มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่อาจคงค้างในระบบ โดยต้องให้ผู้รับสัมปทานได้รับความคุ้มครองให้สามารถให้บริการได้ต่อเนื่องภายใต้บริการเดิม
ทั้งนี้เบื้องต้นกสท ได้พิจารณาคำสั่งดังกล่าวของบอร์ดกทค.แล้วพบว่า เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอน และหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญในการอนุญาตให้บุคคลประกอบกิจการโทรคมนาคม และใช้คลื่นความถี่ตามมาตร 7 ,10 ,79 และ 80 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อ กสท ทำให้เสื่อมเสียสิทธิ และหน้าที่ที่มีอยู่เดิมโดยมิชอบด้วยกฎหมายภายใต้การประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบ ที่ 3
'ตอนนี้เรากำลังพิจารณายื่นฟ้องกสทช. เนื่องจากเห็นว่า ประกาศ กสทช.ขัดต่อกฎหมาย' นอกจากนี้ใบอนุญาตประกอบกิจการแบบที่ 3 ตามที่กสท ได้รับถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น การกำหนดให้ผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่สิ้นสุดลง มีหน้าที่ร่วมกับผู้รับใบอนุญาต ในการให้บริการต่อไปชั่วคราว สำหรับร่างประกาศกสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... (ร่างเยียวยา 1800 MHz) ซึ่งเท่ากับเป็นการอนุญาตให้คู่สัญญาเอกชน คือบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ที่หมดอายุการอนุญาตสัญญาไปแล้ว ได้สิทธิดำเนินการต่อเสมือนเป็นหนึ่งในผู้รับใบอนุญาตแบบที่ 3 เช่นเดียวกับ กสท จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
Company Related Link :
CAT
ที่มา: manager.co.th