กสทช.เตรียมพิจารณาให้ใบอนุญาต Wi-Fi บนเครื่องการบินไทย คาดเปิดให้บริการ ก.ย.นี้ พร้อมวางแผนออกร่างประกาศดาวเทียมสื่อสารภายในปีนี้ หวังกำกับดูแลกิจการดาวเทียมทั้งภาคอวกาศ และภาคพื้นดิน
นายเจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการประจำรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในตอนนี้ กสทช.อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) บนเครื่องบินให้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.เป็นต้นไปบนเครื่องแอร์บัส (Airbus) A380 และโบอิ้ง (Boeing) 777 ซึ่งเป็นเครื่องบินข้ามทวีป ทั้งนี้ ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ที่การบินไทยได้ยื่นขอใบอนุญาตมาที่ กสทช.เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยได้ยื่นขออนุญาตให้บริการทั้ง Wi-Fi และมือถือพร้อมกัน แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายของไทยที่กำหนดว่าคลื่นความถี่มือถือต้องได้รับการจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้น กทค.จึงให้ใบอนุญาต Wi-Fi ก่อนแล้วจึงพิจารณาเรื่องมือถือในภายหลัง
สำหรับคลื่นความถี่ที่ให้บริการ WI-Fi บนเครื่องบินคือความถี่ 2.4 GHz ซึ่งเป็นการให้ใบอนุญาตโดยอัตโนมัติสำหรับทุกรายที่ยื่นขอมา โดยภายหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว การบินไทยต้องเลือกผู้ให้บริการ Wi-Fi อีกที ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่ 2 รายทั่วโลก คือ แอร์โรว์ โมบายล์ ประเทศอังกฤษ และออนแอร์ ของสวิตเซอร์แลนด์
นายเจษฎากล่าวว่า กสทช.ยังเตรียมนำร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร (ร่างดาวเทียมสื่อสาร) เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายในปลายปีนี้ เพื่อเป็นการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม จากนั้นจะนำร่างประกาศดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อไปในปี 2557 ก่อนจะมีการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการภาคพื้นดินต่อไป
โดยในเบื้องต้นสาระสำคัญของร่างประกาศใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารดังกล่าวจะแบ่งใบ อนุญาตออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ใบอนุญาตประกอบกิจการภาคอวกาศ มีอายุ 20 ปี และ2. ใบอนุญาตประกอบกิจการภาคพื้นดิน มีระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทั้งสองประเภทต้องเข้ามาขอใบอนุญาตจาก กสทช. โดยเฉพาะประเภทที่ 2 ที่ กสทช.กำลังดำเนินการเตรียมการประมูลในอนาคตอันใกล้
“จริงๆ แล้วประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประมูลใบอนุญาตภาคพื้นดิน ดังนั้น กสทช.จึงต้องหาวิธีการประมูลให้รัดกุมที่สุดซึ่งในตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะหากกำหนดราคาใบอนุญาตสูงจนเกินไปจะทำให้ผู้ประกอบการหนีไปขอใบอนุญาตจากประเทศอื่นๆ กันหมด”
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีสิทธิในการประกอบกิจการดาวเทียมภาคพื้นดินแล้ว 5 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท ทีโอที 2. บริษัท กสท โทรคมนาคม 3. บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น 4. บริษัท อคิวเมนท์ และ 5. บริษัท ซีเอส ลอกซอินโฟ โดยทั้ง 5 รายเมื่อร่างประกาศดาวเทียมสื่อสารมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องเข้ามาอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดทันที โดยเฉพาะการเข้ามาประมูลใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลที่จะออกมาภายหลังด้วย
เช่นเดียวกับบริษัทไทยคม ที่ก่อนหน้านี้ กสทช.อนุมัติใบอนุญาตประเภทที่ 3 สำหรับประกอบกิจการดาวเทียมที่ใช้สำหรับผู้ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองเพื่อให้บริการดาวเทียมไทยคม 7 ในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ซึ่งไทยคมมีแผนจะยิงในปี 2557 ก็ต้องเข้ามาอยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th