นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวบริการและผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอที รองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความต้องการของลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สอดคล้องกับปัญหาและภัยคุกคามด้านไอทีรูปแบบใหม่ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและปริมาณข้อมูลเชิงลึกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะต่างๆ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บ.ไอบีเอ็มฯ กล่าวต่อว่า จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ไอบีเอ็มออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบไดนามิก (Dynamic Infrastructure) เพื่อรองรับการผนวกโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิตอลเข้าด้วยกัน ทำให้องค์กรสามารถบริหารและจัดการระบบงาน โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังทำให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 15 เพทาไบต์ต่อวัน แต่ละหน่วยงานต้องการเครื่องมือ เพื่อบริหารและจัดการข้อมูลที่มีความปลอดภัย และบริหารความเสี่ยงได้ ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงการบริหารค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบไอที อาทิ ค่าไฟฟ้าและค่าพื้นที่ ฯลฯ ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า จากปี 2539
นายธนพงษ์ กล่าวอีกว่า ไอบีเอ็มมีผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการขององค์กร และมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ 7 ประเภท ได้แก่ 1.เซิร์ฟเวอร์และซอฟต์แวร์เพื่อจัดการปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน 2.ระบบสตรอเรจเอ็กซ์ไอวี ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น 3.เซิร์ฟเวอร์ซิสเต็มซี 10 หรือเมนเฟรม เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างความเสถียรและปลอดภัยให้องค์กร 4.ซอฟต์แวร์และบริการใหม่ภายใต้โซลูชันไอบีเอ็ม เซอร์วิส แมเนจเมนท์ ที่ถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ สามารถออกแบบและติดตั้งระบบไอทีลักษณะรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร 5.บริการรักษาความปลอดภัยจากแผนกไอเอสเอส ที่จะช่วยปกป้องข้อมูลระบบเครือข่ายภายในองค์กรและเครือข่ายอื่นๆ 6.ซอฟต์แวร์อินโฟสเฟียร์ แวร์เฮาส์ เพื่อสนับสนุนแอพพลิเคชันระบบธุรกิจอัจฉริยะ และ7.ไอบีเอ็ม ซิสเต็มส์ ไดเร็คเตอร์ ซอฟต์แวร์ช่วยบริหารการใช้ทรัพยากรกายภาพและเสมือน
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บ.ไอบีเอ็มฯ กล่าวด้วยว่า หน่วยงานทุกระดับตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เพื่อลดช่องว่างภายในองค์กรได้ เชื่อว่าแต่ละองค์กรยังมีการลงทุนด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็จะประหยัดและลดต้นทุนด้านไอทีเพื่อนำไปลงทุนในส่วนอื่น ไอบีเอ็มจึงแบ่งตลาดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดหลักและตลาดกำลังเติบโตสูง โดยแบ่งจากทิศทางและการดำเนินธุรกิจ ส่วนการชำระเงินนั้น บริษัทฯ ได้ออกระบบการชำระเงินแบบผ่อนจ่ายและเช่าซื้อ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจแก่ลูกค้า ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ที่มา: thairath.co.th