Author Topic: ใช้ไอทีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้ หากทุกฝ่ายร่วมใจกัน  (Read 995 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

หลังจากที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ประกาศผล การสำรวจตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของประเทศไทย ในปี 2551 และยังคาดการณ์ถึงภาพรวมตลาดในปี 2552 ว่า ปีนี้ตลาดไอซีที จะมีการเติบโตจากปี 2551 ที่ผ่านมา ด้วยอัตราที่ลดลง คือ เติบโตเพียง 5.2% ถือได้ว่าเป็นค่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งตลาดที่คาดว่าจะเติบโตสูงสุดในปีนี้ ได้แก่ ตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์ เติบโต 14.2% รองลงมา ได้แก่ ตลาดสื่อสาร และตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ เติบโตอยู่ที่ 5.6% และ 5.1% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดฮาร์ดแวร์นั้น คาดว่าจะไม่มีการเติบโตเท่าที่ควร


อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์มูลค่าตลาดไอซีทีรวมในปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 520,000 ล้านบาท โดยมากกว่า 70% ของมูลค่าตลาดมาจากภาคสื่อสารโทรคมนาคม ไอทีเป็นส่วนที่เหลือ แล้วเมื่อนำมาเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ จากมูลค่าตลาดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ บริการ จะอยู่ที 44% 39% และ 17% ตามลำดับ จากเดิมเมื่อปี 2551 ตลาดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ บริการ อยู่ที่สัดส่วน 46% 38% และ 15% ตามลำดับ เห็นได้ว่ามูลค่าตลาดฮาร์ดแวร์ลดลง แต่แนวโน้มตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น แสดงว่าคนให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์ มากกว่าการซื้อฮาร์ดแวร์ใช้ และโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ก็เป็นความหวัง ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีอีกด้วย


การที่สัดส่วน ตลาดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ บริการ เปลี่ยนไป เพราะองค์กรขนาดใหญ่ในต่างประเทศปรับตัวครั้งใหญ่ กับการลงทุนด้านไอทีที่จะซื้อฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์น้อยลง แต่จะเน้นหันมาใช้บริการด้านไอที เพื่อเลือกโซลูชั่นที่ช่วยเก็บกวาดระบบหลังบ้าน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ควบคู่กับการรักษาลูกค้าเก่า แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รูปแบบการลงทุน และตลาดไอทีจะเป็นอย่างไร ทั้งส่วนของผู้บริโภคที่ซื้อของ บริษัทที่ขายเทคโนโลยี และบริษัทที่เป็นผู้ติดตั้งระบบ
 

นางศิริวรรณ อินทรกำธรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการจัดการทางการเงิน บัญชี และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือเบทาโกร ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ ให้ความเห็นในฐานะผู้ใช้ไอทีว่า เนื่องจากกลุ่มเบทาโกรประกอบธุรกิจด้านอาหารสัตว์ และอาหารคน และอาหารปรุงสุกที่ส่งออกขายต่างประเทศ โดยที่ผ่านมามีรายได้รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท ปี 2552 ตั้งเป้ารายได้ 50,000 ล้านบาทเติบโตขึ้น 10% ด้วยส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมอาหารที่ 10.3% แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และองค์กรต้องเผชิญกับการแข่งขันในธุรกิจที่สูง


รอง กก.ผจก.ใหญ่ กลุ่มเบทาโกร อธิบายต่อว่า เบทาโกรมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้ผลประกอบการถึงเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องปรับปรุงระบบไอทีในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา มีการลงทุนคิดเป็น 0.3% ของรายได้ สำหรับงานไอทีสม่ำเสมอ ตั้งแต่ระบบห่วงโซ่อุปทาน บริหารคลังสินค้า ERP: Enterprise Resource Management ระบบตรวจสอบอาหารย้อนหลัง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) การนำเอาระบบธุรกิจอัจฉริยะ หรือ BI วิเคราะห์ข้อมูล ออกมาเป็นรายงานเพื่อใช้ตัดสินใจทำการตลาดได้อย่างเหมาะสม


นายวิชิต ญาณอมร กรรมการบริหารระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยี ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านไอทีของสถาบันการเงินว่า ธนาคารมีนโยบายการใช้งานระบบไอทีแบบรวมศูนย์ และเอาท์ซอร์สงานด้านระบบไอทีให้มืออาชีพมาดูแล จึงทำให้ประหยัดงบปะมาณด้านไอทีถึง 30% เพราะไม่ต้องลงทุนทำทั้งระบบเอง แต่อบรมคนไอทีให้มาดูแลงานเอาท์ซอร์สแทน     


กรรมการบริหารระบบสารสนเทศฯ ธ.ธนชาต อธิบายต่อว่า ในปี 2552 ทางกลุ่มการเงินธนชาติมีงบลงทุนด้านไอทีประมาณ 1,700 ล้านบาท แต่ปี 2551 ลงทุนด้านไอทีเพียง 700 ล้านบาทที่ต้องลงทุนมาก เพราะยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไอทีเป็นเครื่องมือช่วยเหลือที่ดี โดยงบประมาณด้านไอทีของกลุ่มการเงินธนชาติ เมื่อเทียบกับรายได้ยังมีแค่ 3.4% จากค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 6.5% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ การลงทุนไอทีคิดเป็น 8.8% จากค่าเฉลี่ย 12%


นายวิชิต อธิบายต่อว่า ภาคธุรกิจการเงินยังมีโอกาส และช่องว่างที่ต้องลงทุนด้านไอทีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบคอร์แบงก์กิ้งที่ต้องลงทุนใหม่ทุก 10 ปี ธนาคารหลายๆ แห่งก็เริ่มทะยอยจัดซื้อระบบใหม่ทดแทนระบบเดิม หรือเพิ่มโซลูชั่นจัดการข้อมูลลูกค้า ที่กระจัดกระจายอยู่บนเครือข่าย ให้มารวมอยู่ด้วยกัน การเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าที่ปลอดภัย มีการลงทุนเพิ่มระบบความปลอดภัยของข้อมูล รับมือกับแฮกเกอร์ที่พัฒนาขึ้น และการตรวจสอบการทุจริตในองค์กร ตรงนี้ผู้วางระบบไอทีจำเป็นต้องรู้ว่า สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องการอะไร


นางสาวมยุรี ชาติเมธากุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนด้านไอทีช่วงวิกฤติเศรษฐกิจว่า รู้สึกกังวลใจกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เชื่อว่า ยังมีอีกหลายภาคอุตสาหกรรมที่มีงบประมาณลงทุนด้านไอที แต่ตัวผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทวางระบบไอที และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ จะต้องมีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่ใช่แค่ซื้อมาแล้วขายไปแบบในอดีต การจะรับงานขนาดใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีฐานการเงินที่แข็งแรง หรือมีธนาคารให้การสนับสนุนสินเชื่อ ขณะที่ ทรัพยากรบุคคลยังเป็นที่ต้องการ ต้องจัดคนให้เหมาะสม และมีความรู้แค่ด้านไอทีไม่เพียงพอแล้ว จะต้องเข้าใจการทำธุรกิจของลูกค้าด้วย


กก.ผจก.บริษัทจีเอเบิล อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่น่าสนใจ คือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีบริษัทไอทีข้ามชาติดังๆ มักจะปลดคนเพื่อลดค่าใช้จ่าย นี่อาจเป็นโอกาสดีของบริษัทที่ต้องการแรงงานฝีมือดี ราคาไม่แพง อยากให้รีบช้อนคนเก่ง หรือเสริมความรู้ทางภาษาแก่พนักงาน เพื่อจะได้รับงานลูกค้าต่างชาติ ส่วนในมุมขององค์กรที่ต้องการลงทุนด้านไอที อยากให้มองโครงการขนาดเล็กลง เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน แล้วเปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยได้ทำงาน เนื่องจากฝีมือการเขียนเว็บแอพลิเคชัน ระบบคลังสินค้า หรือระบบแผนที่นำทางสำหรับการขนส่ง ของคนไทยไม่แพ้คนต่างชาติ
 

ด้าน นายณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน และกรรมการผู้จัดการ บริษัทออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนและธุรกิจไอทีในอาเซียนว่า นักวิจัยการตลาดทุกสำนักต่างเห็นตรงกันว่า ตลาดไอทีจะมีอัตราการเติบโตลดลง แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาหาร การเกษตร สถาบันการเงิน ไม่ได้ผลกระทบมากนัก ส่วนโอกาสในการหางานลงทุนด้านไอที ยังเป็นภาครัฐ สถาบันการศึกษา และ เฮลธ์แคร์ ยังแข็งแรงในกลุ่มประเทศอาเซียน


กก.ผจก.ประจำภูมิภาคอาเซียน บ.ออราเคิลฯ อธิบายอีกว่า ขณะนี้ แต่ละธุรกิจหันมาดูแลลูกค้าของตัวเอง ป้องกันไม่ให้คู่แข่งแย่งฐานลูกค้า และความต้องการปฏิบัติตามระเบียบสากลต่างๆ การเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อเป็นแบบอิเล็คทรอนิกส์ การพัฒนาระบบแอพลิเคชันให้เป็น Software as a Service: SaaS และการนำเอาระบบเอ็มเบดเด็ด ซอฟต์แวร์มาใช้ ขณะนี้ หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือ การใช้พลังประมวลผลแบบแบ่งปันทรัพยากรทำงานผ่านเว็บ และบริการออนไลน์ต่างๆ สอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคเว็บ 2.0 ที่ผู้คนหันมาพบปะเจรจากันแบบออนไลน์
 

นายณัฐศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจไอทีรายย่อย หากจะเอาตัวรอดในยุคเศรษฐกิจไม่ดี การกู้เงินธนาคารเพื่อมาเสริมฐานการเงินยังน่าสนใจ แต่อาจจะมองธุรกิจการขายแบบแถมไปกับการซื้อฮาร์ดแวร์ ร่วมกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ต่ายต่างๆ จัดเป็นโซลูชั่นครบวงจร หรือเข้าไปร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ รับทำซอฟต์แวร์ให้เข้ากับการใช้งานของลูกค้า หรือในท้องถิ่น เชื่อว่าน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดได้


นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจไอทีของคนไทยว่า ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้มีผลอยู่แค่ปีนี้เท่านั้น แต่ยังยาวไปอีก 3-6 ปี จึงถึงเวลาที่ผู้ประกอบการไทยปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด เมื่องบประมาณของลูกค้าเท่าเดิม แต่ความต้องการเพิ่มมากขึ้น แล้วคนไอทีจะเข้าใจความต้องการของแต่ละธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เมื่อบริษัทข้ามชาติก็จะเข้ามาแย่งลูกค้าของคนไทย ขณะที่องค์กรของผู้ประกอบการต้องมองหาพันธมิตร ที่มีแนวทางด้านเทคโนโลยีชัดเจน และทำกำไรได้ ปรับโครงสร้างพนักงานบริษัท เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร หานายทุนผู้ร่วมทุนที่เข้มแข็งหากไม่อยากกู้เงินธนาคารที่ดอกเบี้ยงสูง เนื่องจากโอกาสได้งานของผู้ประกอบการเล็กๆ ไม่ง่ายเมือนในอดีต


ส่วน นายสมเกียรติ ชินธรรมมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด อธิบายถึงการใช้ไอทีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจว่า จากประสบการณ์ด้านธุรกิจการเงิน วิกฤติการเงินจะเกิดทุกๆ 3 ปี และแต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายประมาณ 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ขณะนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องประคับประคองธุรกิจให้รอด เริ่มต้น คือ ต้องมีฐานการเงินที่ดี และความเสี่ยงน้อย ไม่นำเอาเงินของบริษัทไปลงทุนให้คนอื่นๆ ต้องหาคนมาดูแลงานเกาะติดลูกค้าในการจ่ายเงิน ควบคุมงานให้ตรงเวลา ไม่ให้งานบานปลาย และเลือกงานที่เหมาะกับตัวเองว่าจะไปทางประมูลงานภาครัฐ หรือ จับงานจัดซื้อของเอกชน


ซีอีโอ บ.เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ฯ อธิบายด้วยว่า ผู้ประกอบการต้องทำตัวให้ดูดี  สร้างความแตกต่างด้วยเทคโนโลยีเฉพาะด้าน วางตัวเป็นที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือแก่ลูกค้า มีโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการ ไม่ใช่มีแค่ตัวซอฟต์แวร์เปล่าๆ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล คนในองค์กรต้องมีคุณภาพ มีการพัฒนาความรู้ต่อยอดให้กับพนักงาน ส่งเสริมให้มีการแป่งปันความรู้ในองค์กร ต้องรู้ลึกรู้จริงในเทคโนโลยีที่ทำอยู่ ตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงต่อการแข่งขัน หรือ สนใจศึกษาความรู้ใหม่ๆ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ให้ความรู้กลับคืนสู่สังคมด้วย   

 
ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้ ยังคงมีทางออกที่ทั้งคนซื้อ คนใช้ คนขาย และคนที่ติดตั้งให้บริการ ได้หางานเพื่อเอาตัวรอดได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้เข้ากับลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมขององค์กร เพื่อพร้อมทำงานหนัก ในช่วงที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ การลดค่าใช้จ่าย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จากที่เสนมาประเทศไทยยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมรอการนำเอาไอทีไปใช้งาน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ใครทำ และทำอย่างไรให้ให้ลูกค้าเลือกใช้ทำงาน


จาการสังเกตพบว่า ผู้ประกอบการหลายรายมีประสบการณ์ผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จึงมีความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไปทั่วโลก หากผู้ประกอบการไอทีเมืองไทย สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ และบริหารความเสี่ยงดีพอ ก็น่าจะประคองตัวรอดได้ แต่ลูกค้า และผู้ซื้อก็ต้องให้โอกาสบริษัทคนไทยด้วยเช่นกัน เพราะการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย อย่างน้อยก็ลดเงินส่วนหนึงที่ต้องรั่วไหลออกนอกประเทศ ให้กลับมาหมุนเวียนในระบบได้ แล้วทุกฝ่ายก็จะฝ่าปัญหาที่เกิดขึ้นไปได้พร้อมๆ กัน...


จุลดิส รัตนคำแปง
itdigest@thairath.co.th

 

 
ที่มา: thairath.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)