Author Topic: กสท. ลุยทดลอง ประมูลทีวีดิจิตอล  (Read 713 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


กสท.เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทดลองทดสอบการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งแรก ทั้งผู้ประกอบการ-สื่อมวลชนตบเท้าเข้าร่วมเพียบ ฝั่งผู้ประกอบการต่างระบุห่วงเรื่องกฎเกณฑ์มากสุด “นที” ย้ำ ก.ย.-ต.ค.เปิดประมูลแน่
       
       พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังเปิดให้ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมทดลองทดสอบการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจทั้ง 24 ช่อง วันนี้ (1 ก.ค.) ว่า การทดลองวันนี้เป็นเพียงการเช็กในเรื่องกระบวนการประมูลเท่านั้น โดยไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในวันที่มีการประมูลจริงแต่อย่างใด เนื่องจากซอฟต์แวร์จริงจะเสร็จประมาณเดือน ส.ค.นี้
       
       เบื้องต้นการทดลองทดสอบการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
       
       “คนที่จะเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้จะต้องมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่อยากเข้าร่วมประมูลเท่านั้น และอยากให้มีการเสนอราคาสมเหตุสมผลไม่ใช่สูงจนเกินความเป็นจริง”
       
       อย่างไรก็ดี การทดลองการจัดการประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อทดสอบ และทดลองใช้งานตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ พศ. … เพื่อนำข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะไปพัฒนาโปรแกรมจำลองการประมูล
       
       โดยในส่วนของการประมูลจะใช้วิธีการประมูลแบบการแข่งขันเสนอราคาใบอนุญาตเพิ่มขึ้น หรือฟอร์เวิร์ดออกชัน เช่นเดียวกับการประมูลจริง ซึ่งมีการกำหนดให้ใช้เวลา 60 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เท่ากับการประมูลจริง โดยภายใน 60 นาทีผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะเคาะราคาเข้ามากี่ครั้งก็ได้ โดยการเคาะแต่ละครั้งจะมีราคาเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ในครั้งนี้คือครั้งละ 5 ล้านบาท กรณีที่ครบ 60 นาทีแล้วยังมีผู้เสนอราคาเท่ากันเกินกว่าจำนวนช่องที่เปิดประมูลจะต่อเวลาเพิ่มอีกครั้งละ 5 นาที
       
       เมื่อสิ้นสุดการขยายเวลา และไม่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นระบบจะยุติการประมูลและให้ผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาเท่ากันจับฉลากหาผู้ชนะการประมูล หรือเมื่อจบการประมูลผู้เสนอราคาสูงสุดไล่ลงมาตามจำนวนช่องที่เปิดประมูลจะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนกรณีครบ 5 นาทีแรกแล้วพบว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่มี ระบบจะขึ้นข้อความเตือน และจะยุติการประมูลในครั้งนี้
       
       อย่างไรก็ตาม ในการเปิดทดลองประมูลในครั้งนี้ตัวระบบได้เกิดเหตุขัดข้องขึ้น ซึ่งทาง กสทช.ให้เหตุผลว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ในครั้งนี้เป็นคนละตัวกับซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในวันจริงจึงเกิดปัญหาทางด้านเทคนิค แต่ยังมั่นใจว่าหากเป็นการประมูลในวันจริงจะไม่เกิดเหตุดังกล่าวอย่างแน่นอน
       
       ขณะที่ อาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการทดสอบการประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ กล่าวว่า ในการทดลองเสนอราคาการประมูลครั้งนี้ เบื้องต้นทางทรูวิชั่นส์ไม่ได้ติดใจสงสัยในวิธีการประมูลแบบฟอร์เวิร์ดออกชันแต่ประการใด
       
       อย่างไรก็ตาม ในการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้ ทางทรูวิชั่นส์สนใจที่จะเข้ามาประมูลจำนวนทั้งสิ้น 3 หมวดช่องรายการ ได้แก่ ช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) ช่องทั่วไปแบบมาตรฐาน (SD) และช่องรายการเด็ก ส่วนเงินลงทุนยังไม่ขอเปิดเผยแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ ในส่วนของความพร้อมในการให้บริการทางทรูมีอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันทางบริษัทมีทั้งรายการลิขสิทธิ์และรายการที่ผลิตเองจำนวนมากที่ให้บริการอยู่บนทีวีบอกรับสมาชิกของทรูวิชั่นส์อยู่แล้ว
       
       นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT (ช่อง 9) กล่าวต่อไปถึงการประมูลทีวีดิจิตอลในวันจริงนั้น ช่อง 9 มีงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวทางเลือกในการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้เอาไว้ 3 ทางเลือก คือ 1. ช่อง HD 1 ช่อง-ช่อง SD 1 ช่อง และช่องเด็ก 1 ช่อง 2. ประมูลเฉพาะช่อง SD ทั้ง 3 ช่อง และทางเลือกที่ 3. ช่อง HD วาไรตี 1 ช่อง และช่อง SD วาไรตี 1 ช่องเท่านั้น โดยทุกทางเลือกต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงการประมูลจริงอีกครั้ง
       
       “เรามีงบประมาณเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งช่อง HD มองว่ามีราคาสูงเกินไป ดังนั้นช่อง 9 จะเน้นประมูลในช่อง SD วาไรตีเป็นหลักก่อน ส่วนในช่อง HD จะมีการอัปเกรดภายหลังจากนี้ 2-3 ปี”
       
       นอกจากนี้ ช่อง 9 ยังเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย จึงได้เตรียมงบประมาณเอาไว้อีก 1,000 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในการให้บริการโครงข่าย และอีก 600 ล้านบาทในการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก (เสาส่ง)
       
       นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ในตอนนี้เราต้องการความชัดเจนของร่างประกาศ กสทช.ต่างๆ ก่อน โดยเฉพาะรอร่างหลักเกณฑ์ วิธีการประมูลฯ ซึ่งช่อง 7 ตั้งเป้าจะประมูลทีวีดิจิตอลในช่อง HD 1 ช่อง SD 1 ช่อง และช่องเด็กอีก 1 ช่อง
       
       นายครรชิต ควะชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจดิจิตอลทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในตอนนี้อยากให้กฎเกณฑ์ และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประมูลฯ ออกอย่างชัดเจนก่อน โดยทางจีเอ็มเอ็มตั้งงบในการประมูลทีวีดิจิตอลไว้ที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งต้องการประมูลช่อง HD 1 ช่อง SD 1 ช่อง และช่องเด็ก 1 ช่อง
       
       นอกจากนี้ นายวัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยรัฐ กล่าวว่า เบื้องต้นได้เตรียมเงินขั้นต่ำสำหรับการประมูลทีวีดิจิตอลไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อจะประมูลเอาช่องข่าว 1 ช่องเป็นอย่างน้อย
       
       อีกทั้งในตอนนี้ไทยรัฐยังรับทีมงานที่จะเข้ามาดูแลทีวีโดยเฉพาะเพื่อรองรับการมีช่องทีวีดิจิตอลในอนาคตถึง 200 คนเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน
       
       นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หรืออินทัช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อินทัชได้เตรียมงบประมาณไว้ในการประมูลทีวีดิจิตอลที่ 2,000 ล้านบาท โดยต้องการประมูลช่องวาไรตี และช่องเด็ก
       
       พ.อ.นทีกล่าวปิดท้ายว่า อย่างไรก็ดี กสทช.จะจัดให้มีการทดสอบการประมูลสำหรับผู้ประกอบการอีกครั้งภายหลังซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในวันประมูลจริงเสร็จแล้วหรือประมาณเดือน ส.ค. หลังจากได้ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจากการยื่นซองประมูลก่อนจะเปิดประมูลจริงภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ต่อไป
       
       Company Relate Link :
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)