Author Topic: แวดวงไซเบอร์เร่งปรับร่าง พ.ร.บ.คอมพ์  (Read 680 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


บรรยากาศเวทีเสวนา “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปรับร่างเพื่อประชาชน?”

ผู้มีส่วนร่วมแวดวงไอทีเรียกร้องการสร้างศูนย์รวมอำนาจการควบคุมและบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อควบคุมการบังคับใช้ให้ชัดเจน พร้อมสะท้อนปัญหาการบังคับใช้ที่ไม่สามารถใช้งานจริงได้ในทางปฏิบัติ ย้ำชัดความยุ่งยากด้านการสืบสวนสร้างปัญหาให้ผู้บริโภคไม่อยากเปิดเผยตัวจนกลายเป็นเหยื่ออยู่ร่ำไป
       
       งานเสวนา “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปรับร่างเพื่อประชาชน?” ซึ่งจัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้สะท้อนให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงถึงปัญหาการยกร่างเพื่อปรับปรุงโดยผู้มีส่วนได้เสียของแวดวงไอที
       
       เนื้อหาบางตอนระบุชัดถึงความล้าหลังของกฎหมายที่บังคับใช้สร้างให้เกิดปัญหาเชิงปฏิบัติจริง โดยเสียงสะท้อนดังกล่าวมาจากผู้ให้บริการโฮสติ้งที่เป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กของธุรกิจออนไลน์ แต่ต้องแบกรับภาระการดูแลเนื้อหาที่เกิดจากผู้ใช้บริการในแง่ของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะเกิดขึ้นบนโฮสติ้งที่เปิดให้บริการ
       
       นักวิจัยอิสระอย่าง นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่มีที่ไหนในโลกที่เอาคนกลางมาเป็นผู้รับผิดชอบ แม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เพราะการนำตัวกลางที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีแม้กระทั่งเงินทุนที่จะวางระบบการคัดกรองที่มีคุณภาพในการให้บริการเว็บเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนนอกจากประเทศไทย
       
       “ท้ายที่สุดแล้วตัวกลางก็จะไม่ได้เกิด ซึ่งหมายถึงจะไม่มีใครกล้าเปิดเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดเพื่อรวบรวมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแน่นอน”
       
       ความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่บนความคิดเห็นเช่นนี้คือการปิดกั้นโอกาสผู้ประกอบการรายเล็กให้ไม่สามารถสร้างเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป และท้ายที่สุดแล้วคุณค่าของเว็บไซต์ที่เป็นเสมือนแหล่งตอบโต้ทางความคิดเพื่อนำไปสู่การตกผลึกความรู้ก็จะหดหายไปจากสังคมไทย
       
       ในขณะที่ตัวแทนผู้ให้บริการเว็บไซต์และโฮสติ้งต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า พร้อมทำตามการบังคับใช้กฎหมายทั้งในส่วนของฉบับเก่าและฉบับใหม่หากบังคับใช้จริง แต่ขอความชัดเจนในการเก็บข้อมูลหรือแม้กระทั่งการระบุตัวผู้มีอำนาจร้องขอข้อมูล เพื่อนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนที่ควรมีความชัดเจนมากกว่านี้
       
       เนื่องจากบ่อยครั้งพบว่าผู้เสียหายเองกลายเป็นผู้ร้องขอข้อมูลจากผู้ให้บริการเว็บไซต์ ซึ่งในแง่ของกฎหมายผู้ให้บริการเว็บไซต์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นของผู้เสียหายเอง โดยต้องส่งผ่านการร้องขอมาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งก็คือการแจ้งความนั่นเอง
       
       แน่นอนว่าการแจ้งความที่ต้องลงลึกในรายละเอียดของเทคนิคเป็นสิ่งที่ผู้ร้องขอและเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งความจำเป็นต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ขณะที่ความเป็นจริงแล้วกลับสวนทางจากสิ่งที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ผู้เคราะห์ร้ายที่โดนล่วงละเมิดทางดิจิตอลท้อแท้ที่จะเริ่มการสืบสวนความจริงต่อไป
       
       นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงการเร่งรัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายให้เหลือเพียงแค่ 3 วันแทนที่จะเป็น 3 เดือนก็เป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลเสียสู่การบังคับใช้ที่ไม่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เพราะโดยทั่วไปการศึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ก็จะต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยอยู่แล้ว แต่การสร้างบุคลากรเพื่อบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นมากกว่านั้น นั่นคือต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจโครงสร้างและการทำงานจนสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุการกระทำความผิดได้อย่างชัดแจ้ง แม้ว่าการอบรมดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์การเร่งสร้างจำนวนผู้บังคับใช้กฎหมายให้เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในแง่ของคุณภาพที่จะได้รับกลับสอบตกอย่างสิ้นเชิง

       แนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึงในการเสวนาครั้งนี้คือการสร้างศูนย์กลางการติดต่อด้านข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตามแนวคิด Single Point Contact เพื่อสร้างความชัดเจนในการดำเนินการทั้งในส่วนของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ตัวกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และท้ายที่สุดคือผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสามารถจัดตั้งเป็นบอร์ดเพื่อเข้าควบคุมและกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ โดยความเห็นดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นบุคคลจากหน่วยงานรัฐที่รู้เพียงแค่นโยบายเท่านั้น หากแต่การแต่งตั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทุกด้านน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการนำไปใช้จริง เนื่องจากสามารถทำได้จริงบนความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงมากกว่าการนั่งอยู่บนเก้าอี้และสั่งการเพียงอย่างเดียว
       
       แนวคิดดังกล่าวเลียนแบบการสร้างหน่วยงานกำกับดูแลที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แน่นอนว่าในแง่ของการดำเนินงานก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับตัวกลางทั้งหลายที่จะไม่ต้องคอยตีความข้อกฎหมายที่เขียนครอบจักรวาลตามแบบฉบับนักกฎหมายที่มักใช้ภาษาทางกฎหมายซึ่งอ่านได้คลุมเครือ เพราะปัญหาการตีความข้อกฎหมายเกิดให้เห็นทุกแวดวงไม่เว้นแม้กระทั่งกฎหมายไอที หากแต่การเขียนข้อกฎหมายก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้คนทั่วไปเข้าใจได้
       
       ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่าง พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ในการปฏิบัติจริงนั้นมีปัญหามากในแง่ของการรับรู้และสร้างความเข้าใจทั้งในส่วนของ “ข้อเท็จจริงทางดิจิตอล” ที่แตกต่างกับ “บริบททางดิจิตอลหรือบริบททางคอมพิวเตอร์” โดยถ้าเป็นการปิดเครื่องและวางไว้ในโกดังหรือการถูกทำให้ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจะไม่ถูกเรียกว่า “คอมพิวเตอร์” การเขียนกฎหมายควรใช้ภาษามนุษย์ให้คนเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่การให้ตำรวจหรือนักกฎหมายเข้าใจเพียงเท่านั้น นั่นเพราะกฎหมายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีผลกระทบต่อทุกคนแทบทั้งสิ้น ที่ผ่านมาปัญหาการตีความเรื่องของทั้งสองที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ตำรวจหรือผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การโพสต์ข้อความด่าทอบนสังคมออนไลน์ มักมีคนมาแจ้งความเพียงแค่หมิ่นประมาท แต่ในความเป็นจริงการกระทำดังกล่าวเข้าข่าย “การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี และยอมความไม่ได้เพราะถือเป็นคดีอาญามีโทษมากกว่าหมิ่นประมาทธรรมดาเช่นการด่าทอส่อเสียดกันไปมา โดยการตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมดก็ย้อนกลับไปที่การตีความที่มีความสับสนทางข้อกฎหมายทั้งสิ้น คงต้องย้อนมาดูก่อนที่จะปรับปรุงและแก้ไขฉบับใหม่ว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจข้อเท็จจริงทางดิจิตอลหรือเข้าใจในบริบทของข้อกฎหมายดีหรือยัง
       
       การตีความด้านกฎหมายให้เข้าใจได้ตรงกันจึงกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้การสนับสนุนข้อมูลของตัวกลางเมื่อมีการร้องขอข้อมูลมีความหลากหลายในรูปแบบการจัดส่งที่แตกต่างกันตามแต่ละแห่งจะตีความเข้าใจเป็นแบบใด ทั้งนี้โดยสรุปการเสวนาในครั้งนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งความคิดของการนำเสนอร่างในรูปแบบที่เข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง หากแต่ท้ายที่สุดแล้วร่างดังกล่าวจะได้รับการตอบสนองในขั้นตอนอื่นๆ หรือไม่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่แสนจะยาวไกลในมุมมองของตัวแทนจากกระทรวงไอซีที เพราะท้ายที่สุดแล้วเส้นทางการนำเสนอที่ต้องผ่าน ครม.และอีกหลายขั้นตอนอาจจะสกัดกั้นความเห็นของร่างที่เกิดจากผู้ใช้งานจริงทั้งหมดก็เป็นได้ เพราะร่างที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงร่างที่นำเสนอโดยประชาชนเท่านั้น ไร้เส้นสายและความสนใจจากผู้เฒ่าในสภาอย่างสิ้นเชิง
       
       Company Related Link :
       ITPC
       SONP

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)