งานมหกรรมเกม E3 ในลอสแองเจลลิส คอนเวนชัน เซนเตอร์ที่เพิ่งจบไป มีไฮไลท์สำคัญเป็นการเปิดตัวเครื่องเกม เพลย์สเตชัน 4 ของโซนี่ และ Xbox One ของไมโครซอฟต์ จากข้อมูลเบื้องต้นที่เปิดเผยออกมาได้มีการนำเอามาเปรียบเทียบกันในแต่ละประเด็นเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าทั้งสองเครื่องมีข้อดี ข้อเสีย หรือข้อแตกต่างกันอย่างไร การเก็บข้อมูล -เพลย์สเตชัน 4 และ Xbox One มีความจุฮาร์ดดิสภายในเครื่องขนาด 500 กิ๊กกะไบต์เหมอืนกัน เมื่อมองในระยะยาวเพลย์สเตชัน 4 น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากโซนี่ออกแบบฮาร์ดดิสมาเหมือนกับเพลย์สเตชัน 3 ที่ผู้ใช้สามารถอัพเกรดฮาร์ดดิสได้ ขณะที่เครื่องเกม Xbox ของไมโครซอฟต์ทำไม่ได้
อย่างไรก็ตามไมโครซอฟต์ก็มีออปชันเสริมให้ผู้เล่นเพิ่มเนื้อที่เก็บข้อมูลบนเครื่อง Xbox One ผ่านฮาร์ดดิสภายนอกที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องได้ผ่านช่อง USB ผู้ใช้สามารถใช้งานฮาร์ดดิสภายนอกได้เหมือนกับเป็นฮาร์ดดิสภายในตัวเครื่อง ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเพลย์สเตชัน 4 จะมีการใช้ช่อง USB เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ PS4 มีพอร์ต USB 3.0 จำนวน 2 ช่อง
แรม -ทั้งสองเครื่องใช้แรม ขนาดความจุ 8 กิ๊กกะไบต์ เครื่องเพลย์สเตชัน 4 ใช้แรม GDDR5 ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่าแรม DDR3 บนเครื่อง Xbox One
ตัวประมวลผล -ทั้งสองเครื่องใช้ตัวประมวลผลเหมือนกัน เป็น AMD 8 คอร์
กราฟิก -เพลย์สเตชัน 4 และ Xbox One ใช้กราฟิก AMD Radeon ที่ติดตั้งมากับบอร์ดของตัวเครื่อง การเปิดวางจำหน่ายในปีแรกคงจะเร็วไปหากจะไปตัดสินว่าเครื่องไหนแสดงกราฟิกได้ดีกว่ากัน คงต้องให้เวลากับนักพัฒนาเกมได้เรียนรู้ทำความเข้าใจกับเครื่องเกมให้มากกว่านี้
สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความยากง่ายในการพัฒนาเกมลงเครื่อง สังเกตจากเครื่องเกมในยุคปัจจุบันเมื่อดูจากสเปคแล้วเครื่องเพลย์สเตชัน 3 ดูว่าจะสามารถรีดศักยภาพทางด้านกราฟิกได้ดีกว่าเครื่อง Xbox360 แต่เอาเข้าจริง ถ้าเกมลงให้กับทั้งสองเครื่อง การแสดงผลทางด้านกราฟิกบน Xbox360 จะดีกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนั้นการพัฒนาเกมหรือการพอร์ทเกมลง Xbox360 ยังง่ายดายกว่า
ขนาด -Xbox One มีขนาดใหญ่กว่าเพลย์สเตชัน 4 ถึง 21 เปอร์เซนต์ ซึ่งจะกินพื้นที่ในการวางเครื่องมากกว่า นี่ขนาดยังไม่รวมกับอุปกรณ์กล้อง Kinect ที่จะติดมาพร้อมกับ Xbox One ทุกเครื่อง
การเล่นแผ่น -ทั้งสองเครื่องสามารถเล่นแผ่นดีวีดีและบลูเรย์
รูปแบบเกม -เพลย์สเตชัน 4 และ Xbox One รองรับการเล่นเกมในรูปแบบแผ่น และเกมดิจิตอลดาวน์โหลด เครื่องเพลย์สเตชัน 4 จะไม่ล็อคโซนไม่ว่าซื้อเครื่องโซนใดสามารถเล่นได้กับแผนทุกโซน ขณะที่เครื่อง Xbox One จะล็อคโซน เครื่องเกมกับแผ่นเกมต้องอยู่ในโซนเดียวกันถึงจะเล่นได้
การเล่นเกมเก่า -เจ้าของเครื่องเพลยสเตชัน 4 และ Xbox One จะไม่สามารถใช้เครื่องเกมเล่นแผ่นเกมเพลย์สเตชัน 3 และ Xbox360 ได้ งานนี้ทางโซนี่มีแผนที่จะทำระบบคลาวด์สตรีมเกมเพลย์สเตชัน 3 ให้กลับมาเล่นบน PS4 ได้
นโยบายเกมมือสอง -ไมโครซอฟต์ให้อิสระกับบริษัทเกมในการกำหนดนโยบายเกมมือสอง อาจจะบล็อกไม่ให้ใช้เกมมือสอง หรือมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากการเล่นเกมมือสองบนเครื่อง Xbox One ด้านเพลย์สเตชัน 4 มีนโยบายเกมมือสองเหมือนกับเพลย์สเตชัน 3 ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเกมมีออปชัน "ออนไลน์พาส" ที่จะจำกัดการเข้าถึงโหมดออนไลน์ หรือฟังก์ชันมัลติเพลเยอร์ เพื่อให้ฟังก์ชันทั้งหมดเล่นได้เฉพาะผู้ที่ซื้อเกมมือหนึ่ง
สิ่งที่โซนี่แตกต่างจากไมโครซอฟต์ คือโซนี่ยืนยันว่าเกมที่ตัวเองผลิตขึ้นมาเองจะไม่มีนโยบายจำกัดเกมมือสองอะไรทั้งสิ้น สามารถขายเทิร์นให้กับร้านค้า ขายต่อให้เพื่อน หรือให้ผู้อื่นยืมเล่นได้ ขณะที่ การขายเกมมือสองจากไมโครซอฟต์นั้นจะขายเทิร์นได้เฉพาะกับร้านค้าที่ร่วมรายการเท่านั้น
บังคับต่ออินเทอร์เนท -Xbox One ของไมโครซอฟต์จะมีการตรวจสอบระบบ จึงบังคับให้เครื่องเกมต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เนททุก 24 ชั่วโมง หากไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เนทจะเล่นเกมไม่ได้ ตรงกันข้ามกับเครื่องเพลย์สเตชัน 4 ที่ไม่มีการบังคับให้เชื่อมต่ออินเทอร์เนท
จอยคอนโทรลเลอร์ -จอยเครื่องเพลย์สเตชัน 4 และ Xbox One ถูกสร้างขึ้นจากรากฐานจอยที่ใช้กับเครื่องเกมรุ่นปัจจุบัน แต่จากการได้ลองสัมผัสจับถือรู้สึกได้ชัดว่าจอยทั้ง 2 เครื่องมีขนาดเบากว่าจอยเครื่องเกมรุ่นปัจจุบัน และสามารถจับถือได้ถนัดมากขึ้น
สิ่งสำคัญที่เพิ่มมากับจอยดูอัลช็อก 4 ของโซนี่คือทัชแพด ที่มีลักษณะเหมือนด้านหลังเครื่องเพลย์สเตชันวีตา ซึ่งรองรับมัลติทัช เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเกมได้ใส่ลูกเล่นใหม่ๆในการบังคับควบคุมเกมลงไป
ดูอัลช็อก 4 ตัดปุ่ม Start และ Select โดยทดแทนด้วยปุ่ม Option ส่วนจอย Xbox One ก็ตัดปุ่ม Back และ Start ออกแล้วทดแทนด้วยปุ่ม Menu และ View
โมชันคอนโทรล -ในงาน E3 ที่เพิ่งจบไป โซนี่ไม่ได้เน้นโมชันคอนโทรลเลอร์บนเพลย์สเตชัน 4 จอยเพลย์สเตชันมูฟ และ อุปกรณ์กล้องจะขายแยกกัน จอยดูอัลช็อก 4 จะมีฟังก์ชันตรวจจับการเคลื่อนไหวติดตั้งอยู่ด้วยแต่ความสามารถของมันเทียบกับอุปกรณ์กล้อง Kinect 2 ของเครื่อง Xbox One ไม่ได้เลย กล้อง Kinect 2 จะมาพร้อมกับเครื่อง Xbox One จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปดูการสาธิตจากไมโครซอฟต์ในงาน E3 บอกได้เลยว่ากล้อง Kinect 2 มีความสามารถในการตรวจจับที่แม่นยำที่สุดในตอนนี้
ควบคุมด้วยเสียง -กล้อง Kinect2 ของ Xbox One เปิดโอกาสให้ผู้เล่นใช้เสียงในการควบคุม การเล่นเกม , ฟังก์ชันระบบ และการรับชมโทรทัศน์ ทางด้านโซนี่ไม่มีการกล่าวถึงฟังก์ชันควบคุมด้วยเสียงบน PS4 แต่กล้องเพลย์สเตชัน ก็มีไมโครโฟนติดตั้งบิ๊วอินอยู่
การรับชมรายการโทรทัศน์ -ไมโครซอฟต์เปิดแถลงข่าวในงาน E3 โฟกัสให้ความสำคัญอย่างมากไปกับเครื่อง Xbox One ที่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ โดยระบุว่าฟังก์ชันการรับชมโทรทัศน์นี้ไม่ใช่เป็นเพียงส่วนขยายเพิ่มเติมจากการเล่นเกมทั่วไป แต่ไมโครซอฟต์จะทำให้เป็นเทรนด์มาตรฐานความบันเทิงประจำห้องนั่งเล่นในยุคสมัยใหม่ ทั้งเพลย์สเตชัน 3 และ Xbox One มีบริการสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix และ Hulu Plus
กำหนดวางจำหน่าย -ไมโครซอฟต์ระบุชัดเจนว่า Xbox One จะออกวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน ทางเพลย์สเตชัน 3 ของโซนี่ระบุกว้างๆไว้ว่าจะออกวางจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน
ราคา -เพลย์สเตชัน 4 เปิดขายในราคา 400 เหรียญสหรัฐ ด้าน Xbox One ขายในราคา 500 เหรียญสหรัฐ PS4 ราคาถูกกว่า Xbox One ถึง 100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งฟังดูแล้วน่าจะตัดสินใจซื้อ PS4 แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือเครื่อง Xbox One มาพร้อมกับกล้อง Kinect2 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ และดีกว่าอุปกรณ์เสริมของโซนี่อย่าง PS Move และ PlayStation Camera ที่ต้องซื้อแยกต่างหาก
สรุป -การจะเปรียบเทียบว่าเพลย์สเตชัน 4 หรือ Xbox One เครื่องไหนดีกว่ากันนั้นคงอยู่กับมุมมองของแต่ละคน หากคุณตื่นเต้นกับ การควบคุมสั่งงานโดยใช้เสียง และการขยับท่าทางร่างกายเพื่อควบคุมการใช้งานเครื่อง Xbox One น่าจะเป็นคำตอบที่คุณต้องการ และคุณก็มั่นใจได้ว่าคอนโซลตัวนี้ที่ซื้อมาจะเป็นฮับศูนย์กลางความบันเทิงในบ้านได้
สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 4 จุดเด่นที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือราคาที่ถูกกว่าถึง 100 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดน้อยกว่า Xbox One เนื่องจากเพลย์สเตชัน 4 ไม่มีการบังคับให้ผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เนทเพื่อตรวจสอบ ผู้ใช้สามารถยกเครื่องเกมไปเล่นที่ใดก็ได้ แม้ว่าที่นั่นจะไม่มีอินเทอร์เนท และเพลย์สเตชัน 4 ก็ให้อิสระในระบบเกมมือสองสามารถเปลี่ยนมือเจ้าของได้โดยไม่มีข้อจำกัด
อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบระหว่างสองเครื่องเกมยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนของเครื่องเกม และระบบฟังก์ชันต่างๆยังไม่เปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต และนักพัฒนาเกมก็ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาเครื่องเกมอีกสักพัก
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
gizmag
ที่มา: manager.co.th