ถ้าเปรียบจำนวนอุปกรณ์พกพาทั่วโลกดั่งมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เวิ้งว้างกว้างไกลสุดสายตา วันนี้แรงสั่นสะเทือนจากการขยับตัวของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์โลกอย่าง “อินเทล (Intel)” ที่ปรับยุทธศาสตร์ใหม่หมดจด กำลังก่อให้เกิด “สึนามิของโลกโมบายล์” หรือคลื่นมหึมาของสินค้าล็อตใหญ่ที่จะโหมกระแทกฝั่งในปีนี้ และปีหน้า หนึ่งในสัญญาณคิดใหม่ทำใหม่ที่อินเทลส่งออกมาตลอดงาน Computex 2013 มหกรรมสินค้าไอทียิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียซึ่งจัดขึ้นที่ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 4-8 มิถุนายน 2556 คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์หน่วยประมวลผล (ชิป) สำหรับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนในฐานะพระเอกคนใหม่ที่มีความหมายอย่างมากสำหรับอินเทล
ดาวเด่นของงานนี้คือชิป “Haswell” โปรเซสเซอร์ตระกูล Core i รุ่นที่ 4 ที่ถูกการันตีว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่ารุ่นก่อนหน้าหลายเท่าตัว โดย Haswell ถือเป็นชิปที่ทำให้งาน Computex 2013 ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ซีพียูเพื่ออุปกรณ์พกพาส่วนใหญ่ของอินเทลถูกนำไปทำตลาดในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากที่สุด หลังจากอินเทลร่วมงาน Computex และเปิดตัวชิปต่างๆ มานานเกิน 10 ปี
หากมองย้อนไปก่อนหน้านี้ อินเทลเคยทำตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วยชิปสถาปัตยกรรม x86 ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2012 กับสมาร์ทโฟนอินเทลอินไซต์ นำทัพโดย XOLO ด้วยชิปประมวลผล Intel Atom รหัส Z2480 แต่ด้วยข้อจำกัดของสถาปัตยกรรม ทำให้ตลาดอุปกรณ์โมบายล์ของอินเทลไม่สามารถเติบโตได้เท่าชิปจากค่าย ARM ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้ดีกว่า และรองรับการทำงานบนอุปกรณ์พกพามากกว่า
คลื่นสึนามิแรกที่ชาวดิจิตอลจะได้เห็นในตลาดโมบายล์ คือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) หลากรุ่นที่ใช้ชิปอินเทล โดยก่อนหน้านี้อินเทลไม่สามารถสร้างอิมแพกต์ในตลาดได้แม้จะยืนยันว่ามีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เลือกใช้ชิปของอินเทลแล้ว กระทั่งงาน Computex ปีนี้ ซึ่งอินเทลจับมือกับฉลามขาวในทะเลแอนดรอยด์อย่างซัมซุง (Samsung) กระโจนลงเล่นน้ำได้อย่างสวยงามน่าเกรงขาม
แม้ซัมซุงจะเปิดตัวแท็บเล็ต 8 นิ้ว Galaxy Tab ด้วยชิป ARM ในงานวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน แต่รุ่นเรือธงอย่าง Galaxy Tab รุ่น 10.1 นิ้วกลับมาพร้อมชิปดูอัลคอร์ของอินเทลที่ยังไม่เปิดเผยรุ่น โดยหากพิจารณาจากกำหนดการจำหน่ายคือเดือนมิถุนายน จะมีความเป็นไปได้ว่าแท็บเล็ตใหม่จากซัมซุงจะใช้ชิป Clover Trail+ ซึ่งเป็นชิปที่เพิ่มขีดความสามารถขึ้นจากรุ่นที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน โดยยังคงอยู่ในตระกูล Atom แบบ system-on-a-chip (SOC) ที่ใช้ในแท็บเล็ตวินโดวส์ (Windows) ทั้งหลาย ไม่ใช่ชิปยุคใหม่สถาปัตยกรรม Silvermont อย่าง “Bay Trail” ซึ่งมีคิวเปิดตลาดในช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปีนี้
คลื่นสึนามิระลอกแรกของอินเทลยังรวมถึงอุปกรณ์ชิป Clover Trail ซึ่งในงานนี้มีการโชว์แท็บเล็ตลูกผสมที่สามารถใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและคอมพิวเตอร์พกพาได้อย่าง Asus Transformer Book Trio งานนี้เอซุสจับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และวินโดวส์มารวมอยู่ในเครื่องเดียว ถือเป็นอีกอุปกรณ์พันธุ์ใหม่ที่ผู้บริโภคต้องอ้าปากค้างกับสิ่งที่มองเห็น
ยังมีแท็บเล็ต 10 นิ้วอย่าง Asus Memo Pad FHD และสมาร์ทโฟนจอยักษ์ 6 นิ้วอย่าง Asus Fonepad Note ซึ่งทำให้ช่องว่างระหว่างสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตแคบลงอย่างชัดเจน
ขณะที่ชิป Clover Trail ถูกนำไปเปิดตลาดแล้วในแท็บเล็ตวินโดวส์หน้าจอ 8 นิ้วรุ่นแรกของโลกอย่าง Acer Iconia W3 ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Windows RT นั้นหายไป
งาน Computex ปีนี้ แท็บเล็ต Windows RT น้อยรุ่นถูกนำมาโชว์โดยใช้ชิป ARM อย่าง Asus VivoTab จุดนี้สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การที่งานมหกรรมไอทีแห่งเอเชียไม่ให้ความสำคัญต่อสินค้า Windows RT เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้ผลิตในเอเชียให้ความสำคัญต่อแอนดรอยด์มากกว่า รวมไปถึงตัว Windows RT เองยังมีข้อจำกัดในเรื่องแอปพลิเคชันที่มีน้อยและไม่สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ทั่วไปได้ ทำให้ขัดกับหลักการของ Windows ที่ผู้ใช้ทั่วไปคุ้นเคย
สึนามิลูกนี้ส่งผลโดยตรงต่อไมโครซอฟท์ (Microsoft) และคู่แข่งอย่าง ARM แต่ถือเป็นสึนามิที่ส่งให้อินเทลกลายเป็นจุดสนใจของทั่วโลก เพราะทั้งหมดนี้แสดงว่าอินเทลให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตที่ไม่ได้ผูกตัวเองไว้กับระบบปฏิบัติการวินโดวส์อีกต่อไป แต่เลือกที่จะเข้าถึงตลาดใหม่และใหญ่อย่างแอนดรอยด์
แท็บเล็ตไม่ใช่อุปกรณ์พกพาเดียวที่อินเทลยกเป็นพระเอกในงาน Computex แต่ยังมีสมาร์ทโฟนที่อินเทลตั้งใจให้ใช้พลังจากชิป “Merrifield” ตระกูล Atom ซึ่งอินเทลประกาศว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม 50% และสามารถประหยัดพลังงานอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิป x86 สึนามิระลอกที่ 2 ที่จะเกิดจากอินเทลคือกองทัพสมาร์ทโฟนที่จะลงตลาดในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยรุ่นไฮเอนด์จะเริ่มเปิดตลาดภายในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2014
อย่างไรก็ตาม ในงานนี้ ARM ก็เปิดตัวชิป Cortex-A12 โดยประกาศว่าสามารถทำงานได้ดีกว่าเทคโนโลยี Silvermont Atom จุดนี้นักวิเคราะห์ชี้ว่าชิปอินเทลและ ARM ต่างมีตัวเลขปริมาณการกินไฟในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะสับสนในการเลือกซื้อมากขึ้น
แนวโน้มหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือผู้บริโภคจะไม่สามารถเลือกอุปกรณ์จากจำนวนคอร์ประมวลผลของชิปได้อีกต่อไป โดยอินเทลประกาศว่าชิป 4 คอร์เทคโนโลยี 22 นาโนเมตรของอินเทลนั้นมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าชิป 8 คอร์ใดๆ ในโลก ขณะเดียวกัน การแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีการผลิตระดับนาโนเมตรก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วไปนึกภาพไม่ออก
หนึ่งปัจจัยที่ทำให้สึนามิสมาร์ทโฟนชิปอินเทลเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่ควร คือการขาดเทคโนโลยี 4G LTE ซึ่งทำให้อินเทลต้องไล่ตามคู่แข่งในวันนี้
รองประธานฝ่ายขายของอินเทล “ทอม คิลรอย (Tom Kilroy)” ยอมรับในงาน Computex ว่า อินเทลพลาดการเข้าสู่ตลาดบ้านเกิดอย่างสหรัฐฯ ในทุกวันนี้เพราะการขาดแคลนคุณสมบัติ LTE โดยคิลรอยโยนบาปให้การไม่รองรับ LTE เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คู่แข่งอย่าง ARM สามารถบุกตลาดอเมริกาได้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้อินเทลวางแผนแก้เกมไว้แล้วในชิปรุ่นใหม่ ที่จะสามารถรองรับ LTE หลากหลายโหมดได้เต็มรูปแบบช่วงปลายปีนี้
อินเทลระบุว่ารูปแบบการรองรับ LTE สำหรับแท็บเล็ตที่ใช้ชิป Bay Trail จะทำให้ผู้ใช้สามารถโรมมิ่งได้ทุกเครือข่ายทั่วโลก จุดนี้ เฮอร์แมนน์ อูล (Hermann Eul) ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มผลิตภัณฑ์สื่อสารและอุปกรณ์เคลื่อนที่ของอินเทล ให้สัมภาษณ์ว่า แท็บเล็ตและอุปกรณ์พกพาบนสถาปัตยกรรม Silvermont นี้จะสามารถใช้งานต่อเนื่องเกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งจะรองรับทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และวินโดวส์ 8.1
ผู้บริหารอินเทลระบุว่า ปัจจุบันอินเทลเริ่มทดสอบแท็บเล็ตชิปรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแล้ว ซึ่งพบว่าชิปใหม่สามารถทำให้อุปกรณ์รองรับการแสดงผลคอนเทนต์ที่เป็นมัลติมีเดียเข้มข้นได้ดีขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพการแสดงผลยังดีขึ้นอีกเมื่อรวมกับชิปกราฟิกรุ่นใหม่อย่าง Iris
นอกจากนี้อินเทลยังประกาศว่า แท็บเล็ต Bay Trail จะสามารถเริ่มทำตลาดในราคาต่ำกว่า 199 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่โดนใจคนทั่วโลกได้ไม่ยาก
งานนี้บอกได้คำเดียวว่า ปีนี้แรงสั่นสะเทือนระดับ 9 ริกเตอร์จากอินเทลจะทำให้คลื่นสึนามิโลกโมบายล์กระแทกชายฝั่งตลาดอุปกรณ์พกพาทั่วโลกแน่นอน
Company Related Link :
INTEL
ที่มา: manager.co.th