Facebook โชว์ยอดผู้ใช้บนอุปกรณ์โมบายทะลุ 750 ล้านคน ไม่น่าเชื่อว่า 1 ปีที่แล้ว เฟซบุ๊ก (Facebook) เพิ่งเริ่มทดสอบบริการโฆษณาบนอุปกรณ์พกพาจนทำให้นักลงทุนหวั่นใจและไม่กล้าลงทุนซื้อหุ้นที่มีราคา IPO สูงลิ่ว แต่วันนี้ความกังวลกำลังเลือนลางไปเมื่อเครือข่ายสังคมเบอร์ 1 ของโลกประกาศว่า 1 ใน 3 ของรายได้รวมเฟซบุ๊กตลอดไตรมาสแรกของปีนี้มาจากธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์โมบาย ช่วยให้รายรับของเฟซบุ๊กเติบโตขึ้นอีก 38% แซงหน้าคำพยากรณ์ของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าตลอด 3 เดือนต้นปี 2013 บริษัทมีกำไรสุทธิ 219 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 9 เซนต์ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นจาก 205 ล้านเหรียญจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กยังเป็นบริษัทเอกชน
เฟซบุ๊กระบุว่า รายรับรวมของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากเดิมที่เคยทำได้ 1.06 พันล้านเหรียญ และมีมูลค่ามากกว่าที่นักวิเคราะห์ประเในไว้ว่าจะมีมูลค่า 1.44 พันล้านเหรียญ
ประเด็นที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญมากคือการที่เฟซบุ๊กประกาศว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์โมบายนั้นมีมูลค่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 30% ของรายรับรวม เพิ่มขึ้นจาก 23% ที่เคยเป็นสัดส่วนในไตรมาส 4 ปี 2012 โดยในไตรมาสนั้น เฟซบุ๊กสามารถทำเงินจากธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์โมบายราว 306 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขนี้สะท้อนว่าธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์โมบายของเฟซบุ๊กนั้นเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2012 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่เฟซบุ๊กเปิดเผยผลประกอบการ โดยไตรมาสดังกล่าว ธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์พกพานั้นคิดเป็น 14% ของรายรับรวมเฟซบุ๊กเท่านั้น (คิดเป็นมูลค่า 153 ล้านเหรียญ)
สถิติเหล่านี้ถือเป็นทิศทางเติบโตของเฟซบุ๊กที่งดงาม เมื่อเทียบกับความกังวลของนักลงทุนซึ่งเคยข้องใจศักยภาพของเฟซบุ๊กในการทำเงินบนอุปกรณ์พกพาตั้งแต่ครั้งเฟซบุ๊กเปิดจำหน่ายหุ้นครั้งแรกหรือ initial public offering ในเดือนพฤษภาคมปี 2012 เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนกังวลคือที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีฐานผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพาทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหลายล้านคนอยู่แล้ว แต่ยังไม่เริ่มเปิดพื้นที่โฆษณาเสียทีจนกระทั่งปีที่แล้ว
เฟซบุ๊กให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในรายได้รวม 1.46 พันล้านเหรียญนี้ มากกว่า 85% มาจากค่าโฆษณา ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของนักการตลาดที่ยินดีจ่ายเงินให้โฆษณาสินค้าของตัวเองปรากฏต่อสายตาผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่าเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวันมากกว่า 665 ล้านคน (สถิติเดือนมีนาคม 2013) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับ 618 ล้านคนที่สำรวจได้ในเดือนธันวาคม 2012
ในมุมผู้ใช้งานประจำทุกเดือน เฟซบุ๊กระบุว่ามีจำนวนมากกว่า 1.1 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 23% โดยผู้ใช้กลุ่มนี้มีการใช้งานผ่านอุปกรณ์มือถือทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากกว่า 751 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 54%
ข้อมูลจากเฟซบุ๊กระบุว่า เฟซบุ๊กถูกเปิดใช้งานบนอุปกรณ์มือถือเฉลี่ย 15 ครั้งต่อวัน โดย 81 แอปพลิเคชันยอดนิยมจาก Top 100 ของไอโฟนนั้นสามารถเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊ก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้งานเฟซบุ๊กบนอุปกรณ์พกพามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากบริการของเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมรูปภาพอย่างอินสตาแกรม (Instagram) ซึ่งถูกเฟซบุ๊กซื้อกิจการไปยังมีสัดส่วนผู้ใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงก่อนซื้อกิจการที่มีผู้ใช้ 22 ล้านคน เฟซบุ๊กระบุว่าปัจจุบันอินสตาแกรมมีผู้ใช้งานประจำมากกว่า 100 ล้านคน
ทั้งหมดนี้ บริษัทวิจัย eMarketer เชื่อว่าส่วนแบ่งตลาดโฆษณาออนไลน์ของเฟซบุ๊กจะมีสัดส่วนสูงถึง 6.5% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ทั้งหมดในสหรัฐฯ สัดส่วนนี้คิดเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 5.9% ในปี 2012 แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่ากูเกิล (Google) เจ้าแห่งตลาดที่ครองส่วนแบ่งมากกว่า 41.6%
ที่มา: manager.co.th