ไอเดียใหม่ของบริษัทโซนี่เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อยู่คู่คอนโซลมายาวนาน ด้วยขั้นตอนง่ายๆเพียงใช้เวลาในการโหลดเกมเป็นตัวตัดสินว่า ซอฟต์แวร์ที่เครื่องกำลังรันอยู่นั้นเป็นของแท้จริงหรือไม่ สิทธิบัตรของระบบป้องกันซอฟต์แวร์เถื่อนตัวใหม่นี้ ได้ถูกบริษัทโซนี่ยื่นจดทะเบียนมาตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2011 แต่ล่าสุดเพิ่งถูกขุดขึ้นมาเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนโดยนิตยสารเกม DarkZero ซึ่งหลักวิธีการทำงานของมันจะเป็นการตรวจจับระยะเวลาที่เครื่องใช้ในการโหลดซอฟต์แวร์ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับเวลาโหลดมาตรฐานของซอฟต์แวร์ดังกล่าวที่รันบน Benchmark อีกที
โดยกระบวนการของมันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ขั้นตอน ขั้นแรกเมื่อผู้ใช้เริ่มใส่แผ่นเข้าไปหรือเลือกเล่นซอฟต์แวร์ ตัวระบบจะทำการจับระยะเวลาในการโหลดซอฟต์แวร์ จากนั้นจึงทำการโหลดซอฟต์แวร์ทั้งหมดลงบนโปรแกรม Benchmark แล้วนำเวลาที่ได้มาเปรียบเทียบกัน หากระยะเวลาโหลดที่ได้ออกมาใกล้เคียงกันระบบก็จะปล่อยผ่านให้เครื่องสามารถเล่นซอฟต์แวร์นั้นต่อได้ แต่ถ้าหากเวลาโหลดไม่อยู่ในช่วงกรอบเวลาเดียวกับตัว Benchmark ระบบป้องกันซอฟต์แวร์เถื่อนก็จะทำงานทันทีและเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป
ซึ่งในกระบวนการขั้นที่สองนี้ ตัวระบบจะทำการตรวจสอบและเก็บไอดีข้อมูลระบุตัวตนผู้ใช้เอาไว้เป็นหลักฐาน แล้วเริ่มทำการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากผู้ใช้ผ่านในขั้นตอนนี้ก็จะยังสามารถเล่นซอฟต์แวร์ดังกล่าวต่อได้ แต่ทว่าหากเช็ครอบสองแล้วยังไม่ผ่านอีกจะโดนถึงสองเด้ง เพราะนอกจากจะไม่สามารถเล่นซอฟต์แวร์ได้แล้ว ผู้ใช้ยังจะถูกบล็อคออกจากบริการออนไลน์ของโซนี่อย่างเพลย์สเตชันเน็ตเวิร์คอีกด้วย
และไม่แน่ว่าบางทีโซนี่ อาจจะทดลองใส่ระบบป้องกันซอฟต์แวร์เถื่อนรูปแบบใหม่นี้ เข้ามาเริ่มใช้ครั้งแรกกับเครื่องคอนโซลเพลย์สเตชัน 4 ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ และมีกำหนดวางจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ก็เป็นได้
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
gamespot
ign
joystiq
kotaku
vg247
neogaf
ที่มา: manager.co.th