กทค.ชี้ปลายปี 2557 เปิดประมูล 4G จำนวน 20 MHz แบ่งเป็น 4 สลอตๆ ละ 5 MHz ให้ใบอนุญาต 2 ใบรายละ 10 MHz ส่วนกรณีคงสิทธิเลขหมายที่หวังจะเพิ่มเป็นวันละ 3-5 แสนเลขหมายคาดทำยากเพราะติดที่ กสท และทีโอที อาจไม่พร้อมลงทุน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กทค.เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ยังไม่มีการพิจารณาข้อสรุปของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมรองรับสัญญาสัมปทานความถี่ 1800 MHz แต่อย่างใด โดยได้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นสัปดาห์หน้าแทน แต่ทั้ง 2 แนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอมาก่อนหน้านี้บอร์ด กทค.คาดว่าจะใช้แนวทางในการเปิดประมูลแทนที่จะไปดึงความถี่ 1800MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่มีความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่จำนวน 50 MHz กลับมาใช้งานชั่วคราวให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม เพื่อมาเยียวยาลูกค้าช่วงหมดอายุสัญญาสัมปทาน
ส่วนกรอบเวลาในการเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz (4G) ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานของทรูมูฟ และดีพีซี รายละ 12.5 MHz นั้น คาดว่าจะเห็นการประมูลภายในปลายปี 2557 หรือเร็วสุดไตรมาส 3 เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ทางบริษัท กสท โทรคมนาคม อ้างว่าในสัญญาสัมปทานระบุว่าสามารถใช้ความถี่ต่อได้อีก 2 ปีหลังอายุสัญญาสิ้นสุดลงหรือในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวเบื้องต้นสำนักงาน กสทช.ยังไม่เคยเห็นแต่อย่างใด
“เชื่อว่าภายในปีนี้จะไม่สามารถเปิดประมูลความถี่ 1800 MHz หรือ 4G ได้ทันแน่นอน แต่จะเห็นไม่เกินปลายปี 2557 หรือเร็วสุดไตรมาส 3 ปีเดียวกัน”
สำหรับความถี่ 1800 MHz จำนวน 25 MHz ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม ต้องคืนให้ กสทช.หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดนั้น ไม่ได้อยู่ติดกันทั้ง 25 MHz แต่แบ่งเป็น 3 ช่วงแรก 12.5 MHz ช่วงที่ 2 จำนวน 25 MHz เป็นคลื่นตามสัญญาสัมปทานของดีแทค ซึ่งสัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด และช่วงที่ 3 จำนวน 12.5 MHz ดังนั้นหากจะเปิดประมูล 4G ก็ประมูลได้จำนวน 20 MHz แบ่งเป็น 4 สลอตๆละ 5 MHz ซึ่งจะมีผู้มีสิทธิ์ได้ใบอนุญาตเพียง 2 รายๆ ละ 10 MHz เท่านั้น และในส่วนที่เหลือข้างละ 2.5 MHz ไว้รอประมูลหลังสัญญาสัมปทานดีแทคสิ้นสุดในปี 2561 หรือจะเจรจากับดีแทค เพื่อนำความถี่ตามสิทธิ์ของดีแทค มาเปิดประมูลก่อน เพราะความถี่ช่วงดังกล่าว ดีแทคยังไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวอีกว่า การประชุมบอร์ด กทค.สัปดาห์หน้าคาดว่าจะได้ข้อสรุปในประเด็นเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมจัดการประมูล 1800 MHz (4G), มาตรการเยียวยาลูกค้าภายหลังหมดสัญญาสัมปทาน และในเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability)
ทีโอที-กสท ไม่เอาโอนย้ายเลขหมายจำนวนมาก
ส่วนกรณีบริการคงสิทธิเลขหมายที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการนัมเบอร์พอร์ตเสนอให้มีการเพิ่มการโอนย้ายจากเดิมที่ผู้ให้บริการทั้ง 5 รายในตลาด ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม, บริษัท ทีโอที, ดีแทค, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัท ทรูมูฟ สามารถโอนย้ายได้วันละ 40,000 เลขหมายเพิ่มเป็นวันละ 300,000-500,000 เลขหมายภายในวันที่ 20 เม.ย.ทั้งแบบการโอนย้ายแบบสมัครใจครั้งละหลายเลขหมายโดยไม่จำกัดค่าย และการโอนย้ายแบบจาก 2G ไป 3G ภายในค่ายเดียวกันเท่านั้น ซึ่งในตอนนี้อยู่ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯ กำลังหารือกับผู้ให้บริการทั้ง 5 รายอยู่ เนื่องจากการโอนย้ายดังกล่าวต้องมีการลงทุนของทุกค่าย โดยหากหารือกันเรียบร้อยแล้วจึงจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าบอร์ด กทค. และ กสทช.ต่อไปซึ่งคาดว่าภายในช่วงต้นเดือน มี.ค.จะได้ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
“กรอบเวลาที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดไว้นั้น เรามองว่าอาจจะไม่ทันก็เป็นได้หาก กสท และทีโอทีไม่ยอมร่วมลงทุน เนื่องจากทีโอที และ กสท ไม่เห็นด้วยกับวิธีการโอนย้ายครั้งละมากๆ เพราะจะเสียผลประโยชน์ แต่เรามองว่าคงต้องหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นธรรมดาที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เราก็ดำเนินการทุกอย่างบนพื้นฐานของกฎหมาย”
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th