กลุ่มซีดีจีจับมือ “ARINC” เตรียมเข้าร่วมประมูลระบบ APPS สนามบินสุวรรณภูมิตามใบสั่งการเมือง เผยข้อมูลกลุ่ม ARINC ถูกธนาคารโลกตัดสิทธิเป็นเวลา 33 เดือนเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2013 ที่ผ่านมา หลังพบการฝ่าฝืนเงื่อนไขการจัดซื้อของธนาคารในโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานของประเทศอียิปต์ สำหรับ ARINC ประเทศไทยนั้นถูกระบุว่าขาดคุณสมบัติเช่นกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2013 ถึงวันที่ 9 ต.ค. 2015 แหล่งข่าวจากวงการไอซีทีกล่าวว่า กลุ่มซีดีจี ซึ่งทำธุรกิจด้าน SI (Systems Integrator) ในงานประมูลภาครัฐ โดยมีผลงานในอดีตอย่างระบบคอมพ์ทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีแผนที่จะจับมือกับ ARINC Incorporated เข้าร่วมประมูลโครงการรับส่งและประมวลผลข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า หรือระบบ APPS ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยระบบ APPS คือระบบแจ้งรายละเอียดข้อมูลของผู้โดยสารทางอากาศที่จะต้องถูกส่งไปตรวจสอบล่วงหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลายทางเป็นรายบุคคล แล้วหน่วยงานปลายทางที่เกี่ยวข้องจะแจ้งผลการตรวจสอบกลับไปยังเคาน์เตอร์ที่ผู้โดยสาร check-in ทันทีว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ
โดยองค์ประกอบข้อมูลผู้โดยสารจะต้องมี 1. ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ หมายเลขหนังสือเดินทาง ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด เพศ สัญชาติ วันหมดอายุของหนังสือเดินทาง และรายละเอียดอื่นๆ ที่ระบุในหนังสือเดินทาง และ 2. ข้อมูลยานพาหนะที่เดินทาง ได้แก่ รหัสสายการบิน หมายเลขเที่ยวบิน เวลาเดินทาง เวลาที่คาดว่าจะถึงที่หมาย
สำหรับประโยชน์ของระบบ APPS นั้นจะสามารถนำข้อมูลผู้โดยสารที่รับการส่งผ่านข้อมูลในระบบไปใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ วางแผนปฏิบัติงานและแผนเชิงธุรกิจของ ทอท.หน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานตรวจปล่อยผู้โดยสาร (สตม. และ ศก.) และสามารถนำข้อมูลไปประมวลผลตามภารกิจ
“เห็นได้ว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจคือมีรัฐมนตรีบางคนจูงซีดีจีให้จับมือกับ ARINC เพื่อให้เข้ามาประมูลโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ ARINC ถูกแบงก์โลกแบล็กลิสต์อยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลเผยแพร่บนเว็บไซต์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา”
****ธนาคารโลกตัดสิทธิบริษัทวิทยุการบินชื่อดัง ARINC
กลุ่มธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์กรุ๊ปประกาศตัดสิทธิบริษัทวิทยุการบินชื่อดัง ARINC Incorporated เป็นเวลา 33 เดือนเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2013 ที่ผ่านมา หลังพบการฝ่าฝืนเงื่อนไขการจัดซื้อของธนาคารในโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานของประเทศอียิปต์ ทำให้ ARINC ถูกลงโทษด้วยการระงับตัดสิทธิการทำธุรกรรมใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี แถมยังถูกตัดสิทธิจากธนาคารอื่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับธนาคารโลกด้วย
ทั้งนี้ การตัดสิทธินาน 33 เดือนนี้เกิดขึ้นตามข้อตกลง Negotiated Resolution Agreement ระหว่าง ARINC กับกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งสามารถเจรจากันสำเร็จหลังการสอบสวนโดยหน่วยงานอิสระของธนาคารโลก ผลการสอบสวนทำให้ ARINC ถูกลงโทษด้วยการระงับตัดสิทธิการทำธุรกรรมใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ ARINC ตกลงจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของเวิลด์แบงก์เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติของบริษัทต่อไป
ทั้งหมดนี้ ลีโอนาร์ด แมคคาร์ธี (Leonard McCarthy) รองประธานฝ่ายมาตรการจริยธรรมของธนาคารโลกแสดงความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างของการให้ความสำคัญต่อจริยธรรมของเวิลด์แบงก์ โดยเฉพาะในบริษัทที่มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยยืนยันว่าการตัดสิทธินี้จะมีผลต่อเนื่องในธนาคารที่เป็นสมาชิกกลุ่ม Multilateral Development Banks (MDBs)
MDB นั้นเป็นหน่วยงานอิสระที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ เป็นองค์กรที่เกิดจากการทำข้อตกลงพึ่งพาอาศัยกันและกันของธนาคารหลายแห่ง โดยเมื่อองค์กรหรือบริษัทเคยเซ็นสัญญากับธนาคารใดธนาคารหนึ่งเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และเคยมีประวัติของการทุจริตมาก่อนก็อาจถูกตัดสิทธิจากธนาคารอื่นที่เป็นสมาชิกกลุ่มด้วยเช่นกัน
นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ของ ARINC ผลจากข้อตกลงคำวินิจฉัยร่วมกัน Agreement for Mutual Enforcement of Debarment Decision ระหว่างธนาคารโลก, ธนาคารพัฒนาอาเซียน (Asain Development Bank), ธนาคารยุโรปเพื่อการก่อสร้างและการพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development) รวมถึงธนาคารพัฒนาละตินอเมริกา (Inter-American Development Bank) ทำให้บริษัท ARINC Incorporated เป็นหนึ่งในรายชื่อบริษัทที่ขาดคุณสมบัติ โดยถูกประกาศตัดสิทธิจากกลุ่มธนาคารโลกทั้งหมดนี้นาน 33 เดือน ฐานฝ่าฝืนเงื่อนไขการจัดซื้อของธนาคารในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานของประเทศอียิปต์
ที่น่าสนใจคือ บริษัทลูกในเครือ ARINC มากกว่า 29 สาขาล้วนถูกระบุชื่อเป็นบริษัทที่ขาดคุณสมบัติ ซึ่งรวมถึงบริษัท ARINC India Private จำกัดด้วย โดยรายงานระบุว่า บริษัทในเครือ ARINC ส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 ปี (ถึง 9 ม.ค. 2015) แต่บริษัท ARINC จำกัด และกลุ่มบริษัทลูกในโคลัมเบีย เวียดนาม และโครเอเชียนั้นถูกตัดสิทธินานกว่า ตามกำหนดการล่าสุดคือถึงวันที่ 9 ต.ค. 2015
สำหรับ ARINC ประเทศไทย นั้นเป็นบริษัทที่ถูกระบุว่าขาดคุณสมบัติเช่นกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2013 ถึงวันที่ 9 ต.ค. 2015 ซึ่งหากต้องการให้บริษัทพ้นจากสถานะขาดคุณสมบัติ บริษัทเหล่านี้จะต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมของธนาคารโลก (Integrity Compliance Officer) พร้อมแสดงหลักฐานว่าบริษัทได้ทำตามเงื่อนไขข้อกำหนดอย่างถูกต้องแล้ว
ARINC นั้นเป็นบริษัทให้บริการติดตั้งระบบและวิศวกรรมที่ถูกจดทะเบียนในสหรัฐฯ ถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการระบบวิทยุการบินระดับโลกซึ่งเคยทำตลาดในชื่อ Aeronautical Radio Inc มาก่อน ตัวบริษัทก่อตั้งเมื่อปี 1929 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มทุนชื่อดัง Carlyle Group
ประสบการณ์ของ ARINC นั้นมีทั้งการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในรถตำรวจ ระบบเครือข่ายรถไฟ รวมถึงการให้บริการโซลูชันทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับท่าอากาศยาน นอกจากนี้ยังมีระบบสื่อสารระหว่างสถานีภาคพื้นดินกับเครื่องบิน ซึ่งไม่มีใครคิดมาก่อนว่า ARINC ในวันนี้จะเป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ 'กลุ่มบริษัทและเอกชนที่ขาดคุณสมบัติ' เนื่องจากการถูกลงโทษคว่ำบาตรในข้อหาผิดนโยบายทุจริตและฉ้อโกงของเวิลด์แบงก์
ธนาคารโลกระบุด้วยว่า การถูกตัดสิทธิของ ARINC Incorporated จะครอบคลุมหน่วยงานทั้งหมดที่บริษัทมีส่วนควบคุมทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยจะยกเว้นงานที่บริษัทเคยดำเนินการอยู่ก่อนหน้านี้
ที่ผ่านมาธนาคารโลกประกาศตัดสิทธิบริษัทถึง 83 บริษัทในช่วงปี 2012 โดยหากรวมบริษัทและเอกชนทั้งหมดที่เคยถูกตัดสิทธิจะพบว่ามีจำนวนราว 541 ราย ทั้งหมดนี้สามารถป้องกันการฉ้อโกงในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงถึง 84 โครงการทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับระยะเวลา 33 เดือนนั้นเป็นการลงโทษขั้นต่ำที่สุดสำหรับการตัดสิทธิบริษัทของกลุ่มธนาคารโลกแล้ว ผลจากการให้ความร่วมมือต่อการสืบสวนของ ARINC
Company Relate Link :
CDG
ที่มา: manager.co.th