ต้องยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากขึ้นจนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากแบรนด์สินค้าใดต้องการเข้าถึงคอนซูเมอร์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องรู้ทันและนำพาสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเองเข้าไป พูดคุยเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคในช่องทางที่คอนซูเมอร์ยุคใหม่อาศัยอยู่ให้ได้
ไม่เว้นแม้แต่ขาใหญ่ในวงการเทคโนโลยีที่นอกจากนำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และการใช้งานเครือข่ายสังคมชื่อดังมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อขี่กระแสโลก เว็บ 2.0 แล้ว ล่าสุดเริ่มมีเทรนด์การจัดกลุ่มพบปะพูดคุยกับ "บล็อกเกอร์" (blogger) หรือ ผู้ถ่ายทอดความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องราว ต่าง ๆ ในรูปแบบและสไตล์ของตัวเองบนเว็บไซต์ เพื่อนำเสนอสินค้ารุ่นใหม่ ๆ
เป็นกระแสมาจากต่างประเทศอย่าง "แอปเปิล" ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้า โดยเชิญเฉพาะนักข่าวออนไลน์และบล็อกเกอร์ แทนที่จะเชิญสื่อสิ่งพิมพ์เหมือนในอดีต เพราะความได้เปรียบของสื่อออนไลน์ ทั้งด้านความรวดเร็วและความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปทั่วโลก เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่มิอาจมองข้ามได้
สำหรับประเทศไทยหลาย ๆ ค่ายก็เริ่มให้ความสำคัญกับ "บล็อกเกอร์" โดยเฉพาะ "อินเทล" ที่ให้น้ำหนักกับกลุ่ม บล็อกเกอร์เช่นกัน โดยอินเทลประเทศไทยได้จัดงาน "Blogger Day" มาแล้ว 2 ปี เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอินเทลกับบล็อกเกอร์ต่าง ๆ โดยเว็บไซต์ไอทีและกูรู ดิจิทัล อาทิ blognone หรือ keng.com ต่างได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมงานเกือบหมด
"ดรรชนีพร พฤกษ์วัฒนานนท์" ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด จากอินเทล อธิบายว่า อินเทลแบ่งกลุ่มบล็อกเกอร์เป็น 2 กลุ่ม คือ บล็อกเกอร์ด้านเทคนิค ลงข้อมูลเทคนิค เชิงลึก อัพเดตเทคโนโลยีล่าสุด เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างของอินเทลไปยัง "ผู้นำ ความคิด" ให้มีความเข้าใจและรับข้อมูลจากผู้บริหารบริษัท และไขข้องสงสัยต่าง ๆ จากเดิมที่ต้องโหลดข้อมูลตามหน้าเว็บไซต์อย่างเดียว
ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์บล็อกเกอร์ เช่น บล็อกเกอร์เชิงไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว หรือบล็อกเกอร์กลุ่มผู้ปกครอง จะเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานพีซีเบื้องต้น ความรู้ทั่วไปเป็นหลัก โดยปีนี้ยังคงมีการจัด Blogger Day อย่างต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าจะจัดอีกครั้งช่วงเดือน มิ.ย.หลังงานคอมพิวเทค ไต้หวัน
จุดประสงค์ที่อินเทลจำเป็นต้องสื่อสารไปยังบล็อกเกอร์ คือ การขยายฐานไปยังสื่อใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะกลุ่มบล็อกเกอร์มีการเสนอความคิดเห็นรวมอยู่ด้วยซึ่ง คอนซูเมอร์บางกลุ่มต้องการเป็นข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ผจก.ฝ่ายการตลาดของอินเทลบอกว่า การจัดงาน Blogger Day ในไทยถือว่ายังมีสเกลขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้งานออนไลน์อย่างมาก มีการจัด Blogger Day ในสเกลขนาดใหญ่ มีบล็อกเกอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานหลักร้อยคนเลยทีเดียว
ด้าน "กฤตวิทย์ กฤตยเรืองโรจน์" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจ คอนซูเมอร์ ประจำภาคพื้นเอเชียใต้ จากเดลล์ อธิบายว่า เดลล์เองมีแผนที่จะจัดงานเพื่อพูดคุยกับกลุ่มบล็อกเกอร์และเว็บไซต์ ประมาณ 30 รายเป็นการเฉพาะ เพื่อแนะนำสินค้าของเดลล์เช่นกัน แต่ก็ต้องเลื่อนมาตลอด เพราะเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง
ตนมองว่า สื่อประเภทบล็อกและเว็บไซต์ มีความต้องการเนื้อหาที่แตกต่างจากสื่อ สิ่งพิมพ์ โดยบล็อกจะเน้นที่สินค้า สเป็กการใช้งาน และต้องการทดลองใช้สินค้า หรือ รีวิวมากกว่าสื่อประเภทอื่น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
"พฤติกรรมของคอนซูเมอร์เริ่มเปลี่ยน รับสื่อแตกต่างกันและนิยมอ่านรีวิวสินค้าจาก third party จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภค 15% เชื่อในโฆษณา แต่อีก 80% เชื่อจากกลยุทธ์ปากต่อปาก ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องจับตลาดกลุ่มนี้ เพื่อให้ third party พูดออกมา"
นอกจากการสื่อสารกับบล็อกเกอร์และเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว ในแง่ของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เดลล์ยังได้จัดกิจกรรม "เดลล์ ซีนีเพล็กซ์ มูฟวี่ ฮันเตอร์" กับชุมชนคนรักเดลล์ เพื่อหาผู้โชคดีที่สมัครเป็นแฟนคลับของเดลล์ร่วมชมภาพยนตร์รอบพิเศษ เป็นการต่อยอดกลยุทธ์เครือข่ายสังคมหลังจากเดลล์ในไทยเปิดตัวเฟซบุ๊ก "dellthaiclub" และทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมี ผู้เป็นแฟนเพจจำนวนเกือบ 8 พันราย มีผู้ follow ในทวิตเตอร์กว่า 3 พันราย
กฤตวิทย์กล่าวว่า เฟสแรกของการใช้งานเครือข่ายสังคมของเดลล์ คือ การรวบรวมฐานสมาชิก จนมีจำนวนมากพอจะพัฒนาเป็นคอมมิวนิตี้ จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ขั้นของการจัดกิจกรรมให้กับสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายให้รู้จักกัน หรือสานสัมพันธ์ระหว่างเดลล์กับแฟน ๆ มากขึ้น แทนที่จะแจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือตอบคำถาม ข้อสงสัยอย่างเดียว หลังจากนั้นจะเข้าสู่ ขั้นตอนการสร้างลอยัลตี้ในแบรนด์และรักษาฐานลูกค้ามากขึ้นในอนาคต
"ผู้ที่เข้าเล่นเกมนั้นพบว่า สัดส่วน 60% เป็นแฟนเพจเดลล์ขาประจำอยู่แล้ว แต่ 40% เข้ามาเล่นเกมอย่างเดียว ประโยชน์ที่เดลล์ได้รับคือ มีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าเราในอนาคต"
สอดคล้องกับทิศทางของ "เอเซอร์" เช่นกันที่เริ่มมองสื่อออนไลน์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทำตลาดปี 2553
"นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ" ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด จากเอเซอร์บอกว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เอเซอร์จัดกลุ่มเพื่อพูดคุยกับบล็อกเกอร์และเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้านไอทีและมือถือโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากสินค้าประเภทมือถือ ซึ่งได้จัดงานเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะขยายไปยังสินค้าหมวดอื่น ๆ เช่นโน้ตบุ๊ก อุปกรณ์ไอทีเก็ดเจตอื่น ๆ
"ปัจจุบันเว็บหลัก ๆ ที่มีการรีวิวสินค้า เริ่มมีฐานผู้ชมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ มือถือจะมีเว็บประเภทบล็อกเกอร์ หรือเว็บไซต์มือถือใหญ่ ๆ ซึ่งพูดคุยเรื่องรายละเอียดสินค้า เทคนิค ดังนั้น การพูดคุยกับคนกลุ่มนี้จะทำให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นคอเทคโนโลยีเชิงลึก แตกต่างจากสื่ออื่น
นอกจากนี้ ปีนี้เอเซอร์ให้น้ำหนักกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น มีการเพิ่มงบฯการทำตลาดสำหรับสื่อออนไลน์เป็นเท่าตัว แม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของงบฯการตลาดของบริษัททั้งหมด แต่ถือว่าเป็นสื่อที่เอเซอร์ให้ความสำคัญ เพราะพฤติกรรมของ คอนซูเมอร์หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
พร้อมเปิดหน้าเฟซบุ๊ก AcerThailand และทวิตเตอร์ พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมสนุกกับลูกค้าชิงโน้ตบุ๊ก รวมถึงยังเป็นการแจ้งข่าวสารของบริษัท การทำสมาชิกสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างคอมมิวนิตี้
นิธิพัทธ์ยังกล่าวอีกว่า และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น เร็ว ๆ นี้บริษัทกำลังเตรียมแผนที่จะสร้าง "คลับ" สำหรับสินค้าแต่ละชนิดของเอเซอร์อีกด้วย เพื่อให้ผู้ใช้งานมีโอกาสได้มาเจอกัน คาดว่าจะเริ่มจากเน็ตบุ๊กตระกูล "แอสไปร์วัน" เพราะเป็นกลุ่มที่มีแคแร็กเตอร์ชัดเจน ทั้งดีไซน์ การใช้งาน และเป็นกลุ่มคนเน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ต
ที่มา: prachachat.net