ทีโอทีหวังเปิดทดลอง LTE (4G) บนคลื่น 2.3 GHz 24 กุมภาพันธ์นี้เป็นรายแรก เบื้องต้นเล็งติดตั้งสถานีฐาน 100-200 สถานี พร้อมเข้าพบ กสทช.ขอทดลองก่อน ส่วน 3G เฟส 2 บอร์ดเห็นชอบจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์ทั้งโครงการก่อน ส่วนเฟส 1 ยอมรับติดตั้งไม่ครบ 5,320 สถานีแน่
นายอุดม พัวสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ทีโอทีจะเดินหน้าเปิดทดลองการให้บริการ 4G ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นความถี่ 2.3 GHz ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะทำการขออนุญาตติดตั้งสถานีฐานจำนวน 100-200 สถานี เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทดลองภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ซึ่งจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ 4G บนสถานีฐานของ 3G เดิม เบื้องต้นทีโอทีจะต้องเข้าไปดำเนินการขอทดลองใช้เทคโนโลยี LTE กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกครั้งก่อนจึงจะสามารถเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดทดลองใช้ในวันดังกล่าวต่อไปได้
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันทีโอทีจะเปิดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) เฟส 1 อย่างเป็นทางการ โดยในเฟสแรกได้กำหนดติดตั้งสถานีฐานทั้งหมด 5,320 สถานีฐาน แต่คาดว่าจะติดตั้งได้เพียง 4,000 กว่าสถานีเท่านั้นเนื่องจากติดปัญหาในการติดตั้ง แต่ล่าสุดบอร์ดได้ตั้งคณะทำงานเข้าไปดูเรื่อง 3G โดยจะมีรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองกรรมการเข้ามาดูเรื่อง 3G โดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน
“ต้องยอมรับว่า 24 กุมภาพันธ์เราไม่สามารถติดตั้งสถานีฐานใน 3G เฟสแรกจำนวน 5,320 สถานีได้ทันเวลา แต่ก็จะเดินหน้าเปิดให้บริการตามกำหนดเดิมโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ประมาณ 4,000 สถานี”
ขณะเดียวกันบอร์ดยังเห็นชอบให้ทีโอทีจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์โครงการสร้างโครงข่าย 3G เฟส 2 วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ในการติดตั้งสถานีฐาน 15,000-20,000 แห่ง โดยให้วิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งผลการตอบแทน จุดคุ้มค่าทางการลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ รวมถึงจะต้องวิเคราะห์ถึงมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ว่าจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทีโอทีให้มากที่สุด
“งบประมาณการจ้างบริษัทที่ปรึกษา 3G เฟส 2 ยังไม่ได้มีการตั้งแต่อย่างใด แต่คงต้องคำนวณจากงบลงทุนทั้งหมดของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะไม่แพงมากนักเพราะใช้บริษัทภายในประเทศ”
นายอุดมกล่าวต่อว่า ในประเด็นที่ กสทช.มีคำสั่งทางปกครองสั่งปรับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (ค่าไอซี) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งทีโอทีจะต้องชำระค่าปรับให้ กสทช.วันละ 20,000 บาท ไปจนกว่าทีโอทีจะชำระค่าปรับ โดยต้องชำระค่าปรับตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2553
ล่าสุดทีโอทีได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบอีกครั้ง ทั้งในส่วนของอินเตอร์คอนเนกชันชาร์จหรือค่าไอซี และแอ็กเซสชาร์จ ค่าเอซี เนื่องจากมีประเด็นเรื่องกฎหมายที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ส่วนการจ่ายเงินปันผลพิเศษให้กระทรวงการคลังนั้น ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งเนื่องจากยอดเงินปันผลระหว่างทีโอทีกับกระทรวงการคลังไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องทบทวนสูตรการคำนวณใหม่เพื่อให้วงเงินการจ่ายเงินปันผลตรงกัน
“เราคงจะต้องปฏิบัติตามที่ กสทช.มีคำสั่งออกมาแน่นอน แต่อาจจะหาเวลาเข้าไปคุยกับ กสทช.อีกครั้งเพื่อหาทางออกโดยเร็วที่สุด และเบื้องต้นอาจจะตั้งบอร์ดใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องค่าไอซีโดยเฉพาะโดยด่วน”
ส่วนเรื่องการแต่งตั้งนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) คนใหม่นั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างรอการลงนามในสัญญาจ้างที่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยเบื้องต้นตกลงค่าตอบแทนวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เงินเดือนเดือนละไม่เกิน 400,000 บาท คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
Company Relate Link :
TOT
ที่มา: manager.co.th