Author Topic: กสทช. บังคับค่ายมือถือห้ามบัตรเติมเงินหมดอายุ-ลงทะเบียนซิม 18 ม.ค.นี้  (Read 691 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46027
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      กสทช. หารือเชิงบังคับผู้ประกอบการ 5 ราย 18 ม.ค.นี้บังคับ ให้ลงทะเบียนด้วยรหัสบัตรประชาชน - ห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน ส่วนค่าปรับคงต้องชำระเช่นเดิมแม้ยื่นอุทธรณ์ก็ตาม พร้อมเตรียมผลักอัตราค่าไอซีราคากลางที่ใช้ร่วมกันทุกราย
       
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยวันนี้ (14 ม.ค.)ภายหลังหารือเชิงบังคับกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด
       
       เพื่อหาทางออกปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องการกำหนดระยะเวลาการใช้งานสำหรับให้บริการ 2.การดำเนินจัดเก็บข้อมูล และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าตามข้อ 38 และข้อ 96 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรร และบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 และ3.การกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกเก็บอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศได้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์
       
       โดยภายหลังการหารือกับผู้ประกอบการ ได้มีข้อสรุปตรงกันว่าในวันที่ 18 ม.ค. 56 จะมีผลบังคับใช้ใน 2 กรณีข้างต้นคือเรื่องการกำหนดวันหมดอายุนั้นผู้ประกอบการจะต้องห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมทุกมูลค่าของบัตร พร้อมทั้งผู้ประกอบการจะต้องส่งข้อมูลเงื่อนไขกำหนดวันหมดอายุที่เหมาะสมเพื่อนำมาเสนอบอร์ดกทค.ต่อไป
       
       เนื่องจากหากจะไม่กำหนดวันหมดอายุเลยนั้นผู้ประกอบการอ้างว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะเอกชนมีต้นทุนในการผลิตบัตรเติมเงิน ดังนั้นกสทช.จึงต้องการข้อมูลจากผู้ประกอบการในการเอามาพิจารณาออกเป็นเงื่อนไขในอนาคตต่อไป
       
       "ในช่วงที่ผู้ประกอบการยังไม่มีการส่งข้อมูลเงื่อนไขวันหมดอายุมาเราก็จะบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายห้ามกำหนดวันหมดอายุ โดยเบื้องต้นกสทช.มองว่าทุกบัตรเติมทุกมูลค่าจะต้องมีการกำหนดไม่ต่ำกว่า 30 วัน แต่ทั้งนี้คงต้องรอข้อมูลจากเอกชนก่อนเข้าบอร์ดกทค.จึงจะสามารถประกาศเป็นเงื่อนไขได้"
       
       ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้นคือการลงทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องกรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องนำบัตรประชาชนตัวจริง หรือสำเนาบัตรประชาชนไปแสดงต่อร้านค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ขณะที่ซิมการ์ดเก่าที่ขายออกไปจากผู้ประกอบการแล้วนั้นทางกสทช. และผู้ประกอบการเห็นว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย เนื่องจากออกจากตลาดไปแล้ว
       
       ***"ค่าปรับยังต้องจ่าย"
       
       นายฐากร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการปรับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3 ค่ายมือถือที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกสทช.ที่ผ่านมานั้นกรณีการลงทะเบียนผู้ใช้บัตรเติมเงินล่วงหน้านั้นกสทช.สั่งปรับวันละ 80,000 บาท โดยมีคำสั่งปรับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2555 ไปจนกว่าทั้ง 3 รายจะชำระค่าปรับตามคำสั่งกสทช.   และ กรณีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกสทช. เช่นเดียวกันจึงได้มีคำสั่งปรับวันละ 100,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 ไปจนกว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือชำระค่าปรับดังกล่าวแล้ว
       
       "ถึงแม้เอกชนจะยื่นขออุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินเอกชนก็ต้องดำเนินการจ่ายค่าปรับตามคำสั่งที่เราออกไปอยู่ดี"
       
       ส่วนการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสำหรับบริการด้านเสียง (วอยซ์) ตามประกาศของกสทช.ที่นาทีละ 99 สตางค์นั้น ได้สิ้นสุดตามบทเฉพาะกาลที่อนุโลมตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ดังนั้น เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ จึงต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งทรูมูฟได้เสนออัตราค่าแพกเกจแล้ว ซึ่งทุกโปรโมชันไม่ถึงนาทีละ 99 สตางค์ แต่เอไอเอส กับดีแทคยังเกินอัตราที่กำหนดอยู่จึงได้สั่งให้ทั้ง 2 รายกลับไปปรับโครงสร้างอัตราค่าบริการ และโปรโมชันทุกแพกเกจที่มีอยู่ในสอดคล้องกับประกาศของกสทช.
       
       นอกจากนี้ทางสำนักงานกสทช.ยังจะพยายามกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย(ค่าไอซี)ที่ผู้ประกอบทั้ง 5 รายต้องยึดค่าไอซีกลางดังกล่าว โดยคาดว่าจะเสนอบอร์ดกสทช.ปลายเดือนม.ค.นี้ โดยค่าไอซีในอัตราใหม่นี้ กทค. จะออกประกาศบังคับใช้กับผู้ให้บริการทุกราย ซึ่งเบื้องต้นการใช้ค่าไอซีมีเพียงผู้ประกอบการบางรายที่ใช้โดยอาศัยข้อตกลงระหว่างกันในอัตรานาทีละ 1.07 บาท
       
       เนื่องจากประกาศค่าไอซีฉบับเดิมกำหนดให้เอกชนเจรจากำหนดค่าไอซีกันเอง จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและบางกรณีก็ไม่สามารถตกลงกันได้โดยค่าไอซีใหม่ที่จะบังคับใช้จะต่ำกว่านาทีละ 45 สตางค์ ในปีแรกและจะลดลงใน 3ปี จะต้องปรับลดลงอีก 40% ตามรายงานของที่ปรึกษาเสนอเข้ามา ซึ่งหลังจากที่บอร์ดกสทช.มีมติค่ากำหนดราคาดลางไอซีแล้ว จะจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้งหนึ่ง
       
       ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าไอซีกลาง ที่ต่ำกว่าอัตราเดิมที่เอกชนใช้อยู่ 1.07 บาทต่อนาที เพื่อจะได้สอดคล้องกับการปรับลดราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่กสทช.มีเจตนารมณ์ว่าการให้บริการบนใบอนุญาต 3G จะต้องถูกลง 15-20% และราคาค่าโทรต่อนาทีจะต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาทีตาม ประกาศของกสทช. ขณะที่อัตราค่าไอซีที่ 45 สตางค์ ก็เป็นอัตราที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าไอซีต้องมีการเรียกเก็บทั้งต้นทางปลายทาง ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 ขาแล้วก็จะใกล้เคียงกับค่าบริการซึ่งเป็นราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคต้องจ่าย อย่างไรก็ดีทางกสทช.ตั้งเป้าจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ก.พ. 56
       
       ***อนุมัตินำเข้าอุปกรณ์ "3G"
       
       ล่าสุดสำนักงานกสทช.ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ชนะการประมูล 3G ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู นำเข้าเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) เพื่อให้บริการ3G ทั้งบนคลื่น 2.1 GHz และ 850 MHz ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์จาก บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด
       
       ขณะเดียวกันทางสำนักงานยังได้คำยืนยันจากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายด้วยว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 3G ได้ภายในเดือนเม.ย.-มี.ค.56 นี้ บริเวณพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่
       
       นอกจากนี้ นายฐากร ยังเปิดเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียนด้านกิจการโทรคมนาคมในปี 2555 ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนรวม 2,265 เรื่องเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีเรื่องร้องเรียน 2,014 เรื่อง โดยเป็นเรื่องร้องเรียนโทรศัพท์มือถือมากที่สุด 1,709 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 1,000 เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน ส่วนการร้องเรียนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เอไอเอสถูกร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาเป็นดีแทค ทรู ทรูมูฟ เอช ทีโอทีและฮัชฯ
       
       ***คัดเลือกรองเลขาฯ
       
       นายฐากร กล่าวอีกว่า ความคืบหน้า การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. โดยตำแหน่งที่เปิดคัดเลือก แบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1. รองเลขาธิการ กสทช.ด้านยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร 2. รองเลขาธิการ กสทช.ด้านภูมิภาคและบูรณาการ 3.รองเลขาธิการ กสทช.ภารกิจโทรคมนาคม โดยวันนี้ (14 ม.ค.2556) ที่สำนักงานกสทช. ได้ทำการคัดเลือกผู้สมัครคัดเลือกบุคคล ได้แก่ 1. นายไตรรัตน์ วิระยะศิริกุล นายเพชร ชินบุตร ด้านยุทธศาสตร์ , 1. นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 2. นายองอาจ เรืองรุ่งโสม 3. นายพากเพียร สุนทรสิต ภารกิจโทรคมนาคม, 1. ผศ.ดร.ภักดี มานะหิรัญเวท 2.พล.ต.อ.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 3.นายภูมิจิต พงษ์พันธุ์งาม
       
       โดยผู้ผ่านการคัดเลือก จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ ในวันที่ 24 ม.ค.2556 เพื่อดำเนินการคัดเลือกีรองเลขาธิการ กสทช.ให้เหลือเพียงภารกิจ 1 คน ขณะที่ การเปิดรับสมัครรองเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ยังไม่เปิดรับสมัคร
       
       Company Relate Link :
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)