ติดปีก 3G กลุ่มทรู หลังสามารถให้บริการได้ 2 ความถี่ทั้ง 850 MHz ที่ร่วมกับ กสท โทรคมนาคม และ 2.1 GHz ด้วยใบอนุญาตจาก กสทช. ตอกย้ำแบรนด์ทรูมูฟ เอช ผู้นำในการให้บริการ 3G หยอดสามารถลดค่าบริการดาต้าลงได้กว่า 50% พร้อมนำคอนเทนต์ในกลุ่มแปลงให้เป็นโมบายล์คอนเทนต์ เชื่อมั่นเพิ่มลูกค้า 6 ล้านรายในปี 2556 ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงมูลค่าตลาดโมบายล์อินเทอร์เน็ตในปี 2556 ว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากในปี 2555 ที่อยู่ราว 7 พันล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่า 3G จะเข้ามาเป็นเกมเชนเจอร์ให้แก่กลุ่มทรู ให้สามารถพลิกโอกาสขึ้นเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ในตลาดได้ไม่ยากถ้าสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้
“สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือการที่สัญญาสัมปทานหมดลง การออกใบอนุญาตก็เปรียบเหมือนเปิดให้มีการค้าเสรี ทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะลงทุน ซึ่งกลุ่มทรูตั้งเป้าไว้ว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านราย ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช”
เบื้องต้นกลุ่มทรูได้เตรียมงบในการลงทุนระบบ 3G ย่าน 2.1 GHz ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุม 50% ตามที่ กสทช.กำหนดไว้ ยังไม่นับรวมกับการลงทุนเพื่อการให้บริการ 3G ย่านความถี่ 850 MHz ภายใต้สัญญาธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี HSPA ระหว่าง กสท กับกลุ่มทรูที่เชื่อว่าเมื่อแก้ไขสัญญา 6 ข้อเรียบร้อยแล้วจะช่วยติดปีกให้แก่ทรูในการให้บริการ 3G ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศบนประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย
“เมื่อมองถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปี 2556 เชื่อว่าเป็นปีที่มีการลงทุนสูงระดับ 6-7 หมื่นล้านบาท จากโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายที่ได้ใบอนุญาตไป ไม่นับรวมกับปริมาณของสมาร์ทโฟนที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 85% ในปี 2556 ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้บริการนอนวอยซ์มากขึ้นกว่า 70% และเพิ่มค่าบริการเฉลี่ยต่อหมายเลขต่อเดือน (ARPU) ให้สูงขึ้นด้วย”
ศุภชัยยังกล่าวอีกว่า การลงทุน 3G บนย่าน 2.1 GHz นั้น ถือว่าเป็นการช่วยขยายพื้นที่ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศจะช่วยให้สามารถเข้าถึงกว่า 19 ล้านครัวเรือน และเมื่อประชาชนมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“เมื่อโมบายล์อินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปริมาณแบนด์วิดท์ที่สามารถให้บริการได้ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้นกว่า 3.5 เท่า ในจุดนี้นอกจากในมุมของผู้ให้บริการเครือข่ายแล้ว ผู้ให้บริการคอนเทนต์ และแอปพลิเคชันก็จะได้รับประโยชน์ด้วย”
ขณะที่ในส่วนของการให้บริการ 3G บนย่าน 850 MHz ภายใต้สัญญา กสท-ทรู จะสามารถรองรับผู้ใช้งานได้ราว 7-8 ล้านเลขหมาย แต่เมื่อมองในแง่ของจุดที่จะทำกำไรแล้ว การลงทุนบนคลื่น 3G 2.1 GHz จะมีต้นทุนต่ำกว่าบริการภายใต้สัญญาการเช่าซื้อดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2556 กลุ่มทรูจะเน้นขยายบริการ 3G 2.1 GHz โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปถึงการทำตลาดภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช ที่มี 3G ให้บริการทั้ง 2 ช่วงคลื่นความถี่ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่านั้น ศุภชัยกลับมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่กลุ่มทรู เพราะเมื่อเทียบกับโอเปอเรเตอร์อีก 2 ราย กลุ่มทรูถือว่ามีช่วงคลื่นในมือน้อยที่สุด แต่เพื่อความอยู่รอดในอุตสาหกรรมอาจต้องมีการหาพาร์ตเนอร์หลักในการให้บริการต่อไป
“ตอนนี้เริ่มมีการหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมให้บริการแล้ว เพียงแต่ต้องมองหาพาร์ตเนอร์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในมุมของการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือการโรมมิ่งเพื่อให้ได้บริการที่ดีที่สุด เพราะจริงๆ แล้วด้วยอัตราการเติบโตของการใช้งานดาต้า ช่วงคลื่น 15 MHz ที่ได้ใบอนุญาตมาอาจไม่พอใช้ภายใน 2 ปีข้างหน้า”
สำหรับปี 2555 กลุ่มทรูมีลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 20 ล้านราย โดยเป็นลูกค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช ราว 3 ล้านราย ส่วนที่เหลือราว 17 ล้านรายอยู่ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ ซึ่งตรงจุดนี้ทรูมีข้อกังวลที่ว่าสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันใช้ในการให้บริการ 2G บนคลื่น 1800 MHz กำลังจะหมดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนของ กสทช.ว่าจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคไม่เกิดความเสียหายเมื่อสัมปทานหมดลง
“ถ้า กสทช.พร้อมเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz กลุ่มทรูก็พร้อมเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต โดยจะนำเงินทุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่เตรียมไว้ใช้ในการลงทุนเครือข่าย 3G ราว 5 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากเงินกู้และเงินหมุนเวียนภายในบริษัท”
เมื่อมองไปถึงการปรับลดราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่ กสทช.กำหนดออกมาว่าผู้ให้บริการจะต้องมีการปรับลดราคาค่าบริการลง 15% นั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ทางกลุ่มทรูสามารถลดค่าบริการด้านดาต้าลงได้กว่า 50% เนื่องมาจากกลุ่มทรูหลุดพ้นจากสัญญาสัมปทานเดิมที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นใบอนุญาต รวมกับการทำสัญญาธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่กับ กสท ทำให้ต้นทุนลดลงเป็นอย่างมาก
“แม้ว่าจะสามารถลดค่าบริการดาต้าได้ แต่ในส่วนของบริการวอยซ์ หรือ 2G ในปัจจุบันยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง และเนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้งานบริการ 2G เป็นหลัก ทำให้การคำนวณค่าบริการต้องคิดถึงต้นทุนของ 2G เข้าไปด้วย”
นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้กลุ่มทรูได้เปรียบในการให้บริการ 3G คือการที่มีคอนเทนต์ และบริการอยู่ในมือ ส่งผลให้สามารถนำคอนเทนต์ต่างๆ เข้ามาเสริมบริการของ 3G ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำทรูวิชั่นส์มาให้ลูกค้าได้รับชมผ่านสมาร์ทโฟน หรือรูปแบบบริการอื่นๆ ที่ให้บริการกับทรูมูฟ เอช ในปัจจุบันอยู่
***ดีแทค กังวลค่าโรมมิ่งภายในเครือข่าย ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด ดีแทค ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำคลื่น 850 MHz ที่อยู่บนสัมปทานเดิมมาให้บริการ 3G กล่าวยืนยันว่าจะเดินหน้าให้บริการต่อไป ควบคู่ไปกับ 3G 2.1 GHz เพียงแต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่าใช้บริการเครือข่ายร่วมบน 3G (โรมมิ่ง) ทำให้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าค่าบริการดาต้าจะต่ำลงถึง 50% หรือไม่
“การที่อีกผู้ให้บริการสามารถการันตีถึงการปรับลดราคาดาต้าลงได้ เนื่องมาจากหลุดพ้นจากการจ่ายค่าสัญญาสัมปทาน ทำให้ต้นทุนส่วนนี้หายไป แต่ดีแทคยังต้องให้บริการภายใต้สัญญาสัมปทานที่จะหมดลงในปี 2561 แต่ก็ยืนยันว่าจะมีการปรับราคาดาต้าลงให้เหมาะสมกับผู้ใช้แน่นอน”
โดยปกรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันดีแทคถือเป็นผู้ให้บริการที่คิดค่าบริการ 3G แบบไม่จำกัดปริมาณการใช้ในราคาต่ำสุดที่ 399 บาทต่อเดือน เพียงแต่ว่าจะมีการกำหนดค่า FUP (Fair Usage Policy) เมื่อใช้งานถึงปริมาณที่กำหนดความเร็วจะลดลงไปอยู่ที่ 64 Kbps ถ้าอยากใช้งานที่ความเร็วเท่าเดิมก็สามารถซื้อแพกเกจเสริมได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีการทำแพกเกจ 3G ที่หลากหลายกว่าปัจจุบันออกมา
“รูปแบบแพกเกจใหม่อาจจะมีหลายช่วงราคาแยกย่อยตามปริมาณการใช้งานบนความเร็วสูงสุด และภายใต้กำหนด FUP ถ้าต้องการความเร็วสูงตลอดเวลาราคาแพกเกจก็จะสูงกว่าแบบปกติ”
***เอไอเอสตั้งสถานีฐานถี่ขึ้น ลดความเสียเปรียบ ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล เอไอเอส กล่าวถึงประเด็นของผู้ให้บริการที่มีช่วงคลื่นความถี่น้อยว่า ถ้ามองในแง่ของการให้บริการก็ต้องยอมรับว่ารายที่มีช่วงคลื่นน้อยกว่ารายอื่นจะเสียเปรียบ แต่ในเชิงเทคนิคก็มีวิธีแก้ไข เพื่อช่วยให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
“ด้วยสภาพตลาดในปัจจุบันความได้เปรียบในเรื่องช่วงคลื่นความถี่ถือว่ามีผลกระทบน้อยมากเพราะสามารถนำเทคนิคมาช่วยแก้ไข เพราะอย่างที่รู้กันว่าคลื่นความถี่ต่ำอย่างช่วง 800 MHz ก็สามารถกระจายสัญญาณได้ไกลกว่าความถี่สูง แต่ในขณะเดียวกันคลื่นความถี่สูงอย่าง 2.1 GHz ก็มีพลังที่ทะลุทะลวงมากกว่าคลื่นความถี่ต่ำ”
แต่หากมองในแง่ของการใช้งานจริง ประโยชน์ดังกล่าวแทบไม่มีผล เพราะเมื่อพื้นที่ไหนที่มีปริมาณผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากถึงแม้จะเป็นช่วงคลื่นความถี่ต่ำก็ต้องมีการวางสถานีฐานเพิ่มให้รองรับกับการใช้งานแบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ระดับความเร็วที่สเถียรที่สุดอยู่ดี
ดังจะเห็นได้จากการวางสถานีฐานในเมืองของเอไอเอส ที่ตอนนี้อาจจะได้เห็นแทบทุกๆ 500 เมตรตามตึกสูงในกรุงเทพฯ ส่วนในหัวเมืองหรือตามพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะมีการทยอยติดตั้งสถานีฐานเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าทั้ง 34 ล้านรายของเอไอเอสได้ และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเอไอเอสถึงมีสถานีฐานมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการอื่นๆ
ส่วนประเด็นการลดค่าบริการนั้น เอไอเอสยังมองว่ามีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องของการหมดสัญญาสัมปทาน อาจจะอยู่ในมุมของการลงทุนขยายโครงข่ายที่ทำให้อยู่ในระดับที่ครอบคลุม แต่ไม่สามารถรองรับความหนาแน่นเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง และส่งผลมาถึงค่าบริการที่ถูกลงก็เป็นได้
Company Related Link :
Truemove H
AIS
Dtac
ที่มา: manager.co.th