เอ็น เอช เอ็น คุยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการใช้งาน 'LINE' ต่อเนื่องใน 24 ชั่วโมงเป็นอันดับ 1 จากปริมาณผู้ใช้งานในประเทศที่มีอัตราการเติบโต 1,150% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ด้วยยอดผู้ใช้งานที่ทะลุ 10 ล้านราย จากผู้ใช้งานทั่วโลก 85 ล้านราย จิน วู ลี ตัวแทนฝ่ายธุรกิจของ LINE บริษัท เอ็น เอช เอ็น คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงยอดผู้ใช้งานแชตแอปพลิเคชันในประเทศไทยอย่างเป็นทางการด้วยจำนวนผู้ใช้ทะลุ 10 ล้านรายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 1,150% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนยอดผู้ใช้งานทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ 85 ล้านรายใน 231 ประเทศทั่วโลก
“ประเทศไทยมีผู้ใช้งาน LINE เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่ถ้ามองในแง่ของการใช้งานใน 24 ชั่วโมง ผู้ใช้ในไทยมีการใช้งานมากที่สุด ขณะที่สัดส่วนของระบบปฏิบัติการที่ใช้งานในช่วงต้นปีจะมีปริมาณไอโอเอสมากกว่า แต่ในปัจจุบันแอนดรอยด์กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้งาน LINE มากที่สุดถึง 55% รองลงมาเป็นไอโอเอสที่ 40% ส่วนแบล็กเบอร์รี และวินโดวส์โฟนรวมกันที่ 5%”
สำหรับโมเดลธุรกิจของ LINE จะมีรายได้มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ B2B ระหว่างบริษัทกับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาสร้าง Official Account และ Sticker ของแต่ละแบรนด์ อีกส่วนหนึ่งคือ B2C หรือระหว่างบริษัทกับผู้ใช้งานทั่วไป ผ่านการซื้อ Sticker และอุปกรณ์เสริมในเกม
“เรายืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มแบนเนอร์โฆษณาในแอปฯ เพราะปัจจุบันรายได้หลักของ LINE มาจากการจำหน่าย Sticker มากกว่า 3,400 รูปแบบ จากกว่า 100 เซต และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง”
โดยปัจจุบัน Official Account ขององค์กรในประเทศไทยที่มีผู้ติดตามมากที่สุดคือ การบินไทย (Thai Airways) ที่ 2.2 ล้านราย รองลงมาคือ CP ที่ราว 2.1 ล้านราย ขณะที่ในส่วนของ Sticker ที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดคือ Sticker จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการดาวน์โหลดไปใช้งานมากกว่า 2.47 ล้านราย
“ปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทที่ติดต่อเข้ามาขอเปิด Official Account และสร้าง Sticker กับ LINE เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยข้อกำหนดของบริษัททำให้ต้องมีการคัดกรองบริษัทเหล่านี้ และเลือกเฟ้นเฉพาะบริษัทที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังต้องการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งานให้มากที่สุด”
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2013 ของ LINE ยังคงยึด 4 แนวทางธุรกิจเดิมที่ทำมาในปี 2012 คือการเพิ่มมัลติฟังก์ชันแอปฯ ภายใต้ชื่อของ LINE ไม่ว่าจะเป็นเกม เครื่องมือการใช้งาน แอปฯ กล้องถ่ายภาพ แอปฯ ตกแต่งรูปที่จะมีเพิ่มในปีหน้ามากกว่า 10 แอปฯ ถัดมาคือการเพิ่มอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานจากปัจจุบันที่มีในสมาร์ทโฟนและเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น
นอกจากนี้ก็ยังเตรียมพร้อมให้บริการในระบบปฏิบัติการใหม่ๆ (ครอสแพลตฟอร์ม) ที่จะออกสู่ตลาด นอกเหนือจาก 5 ระบบปฏิบัติการที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และสุดท้ายคือการให้บริการในแง่ของโซเชียลแพลตฟอร์มที่ครบถ้วนมากขึ้น หลังจากเปิดให้บริการ Timeline ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
Company Relate Link :
LINE
ที่มา: manager.co.th