ไฮไลต์ที่น่าสนใจของงาน "โมบาย เวิรลด์ คองเกรซ" ณ กรุงบาร์เซโลนา ปีนี้นอกจากการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ๆ ของแต่ละค่ายแล้ว ที่น่าจับตาก็คือการประกาศเปิดตัว "แอปพลิเคชั่น สโตร์" (App Store) ของบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสาร
แอปพลิเคชั่นสโตร์ หรือร้านค้าออนไลน์ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถช็อปปิ้ง ซื้อขาย และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ตนต้องการมาไว้อยู่บนมือถือ
ปัจจุบันจึงเห็นเทรนด์ทั้งผู้ผลิตมือถือ โอเปอเรเตอร์ บริษัทซอฟต์แวร์ และบริษัทอิสระ ต่างประกาศเปิดแอปพลิเคชั่นสโตร์ของตัวเองกันทั่วหน้า
เอเอฟพีรายงานว่าในงานแสดงมือถือระดับโลกครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมสื่อสารที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในไม่กี่ปีข้างหน้า
เนื่องมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสื่อสารพยายามที่จะหาแหล่งรายได้ใหม่ หลังจากการประเมินยอดขายโทรศัพท์ใน ปีนี้อาจจะลดลงประมาณ 10% และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเรียกว่าเป็นยุคที่ 2 ของอุตสาหกรรม นับตั้งแต่มือถือถูกผลิตขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980
"เจอร์รามี กรีน"นักวิเคราะห์ บริษัทที่ปรึกษา Ovum กล่าวว่าแอปพลิเคชั่น สโตร์ มีตัวกระตุ้นหลักมาจากแอปเปิล ที่เปิดตัว App Store เมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อเสนอบริการออนท็อปสำหรับผู้ต้องการโหลด แอปพลิเคชั่นพิเศษบนไอโฟน หรือไอพอด ทัช และถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของอุปกรณ์ให้มีประโยชน์มากขึ้น
ปัจจุบัน App Store ของแอปเปิล มีผลิตผลกว่า 2 หมื่นชิ้นมียอดดาวน์โหลด กว่า 500 ล้านครั้ง และนักวิเคราะห์บางรายคาดว่า แอปเปิลมีรายได้จาก App Store มากกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผลพวงที่ตามมาและเรียกความสนใจของบริษัทไอทีต่างๆ คือ ดีมานด์ในตลาดของการใช้บริการต่างๆบนอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงโอกาสของโฆษณาบนมือถือ
"โรเบิร์ตทา คอซซา" นักวิเคราะห์จากการ์ดเนอร์กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาปัจจัยสำคัญที่สร้างความตื่นเต้นให้กับตลาด คือเรื่องฮาร์ดแวร์ฟีเจอร์ และเทคโนโลยีบน มือถือ แต่ปัจจุบันคือแอปพลิเคชั่นและบริการ
ล่าสุด "โนเกีย" และ "ไมโครซอฟท์" ประกาศตัวอย่างเป็นทางการแล้วว่า ทั้งสองบริษัทจะเปิดเกมรุกให้บริการแอปพลิเคชั่น บนมือถือผ่านทางออนไลน์สโตรของตัวเอง
เช่น "Ovi Store" ของค่ายโนเกียที่เน้นจุดขายแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์มัลติมีเดียต่างๆ ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละราย โดยมือถือรุ่นแรกที่รองรับ และ built-in ระบบดังกล่าวคือ N97 ซึ่งจะเปิดตัวในเดือน มิ.ย.นี้
โนเกียจะแบ่งรายได้ 70% ให้นักพัฒนาจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นโมเดลที่แอปเปิลทำตลาดในปัจจุบัน รวมถึงยังจับมือกับพาร์ตเนอร์ อย่าง EA ผู้ผลิตเกมรายใหญ่, เฟสบุ๊ก, มายสเปซ และโลนลี่ แพลนเน็ต เพื่อจัดหาคอนเทนต์ด้วย
ด้านยักษ์ซอฟต์แวร์ "ไมโครซอฟท์" เปิดตัว "windows phone" บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โมบาย 6.5 ที่มาพร้อมอินเตอร์เฟสรูปแบบใหม่ โดยจะเปิดตัว อย่างเป็นทางการช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ประกอบด้วยบริการ 2 ส่วนหลัก คือ "Myphone" บริการแบ็กอัพข้อมูล วิดีโอ รูปภาพ เพลง เอกสาร ปฏิทินที่อยู่บน มือถือให้สามารถเชื่อมโยงและจัดเก็บบน เว็บไซต์ได้ และ "windows marketplace" ตลาดกลางสำหรับจัดหาแอปพลิเคชั่นบนมือถือที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางมือถือและเว็บ เป็นเสมือนสถานที่รวบรวมและการซื้อขายแอปพลิเคชั่นมือถือ
โดยปัจจุบันไมโครซอฟท์มีแอปพลิเคชั่น ที่ทำงานบนวินโดวส์โมบายประมาณ 2 หมื่นชิ้นจากนักพัฒนาทั่วโลก
สำหรับระบบปฏิบัติการรายอื่นๆ อาทิ ซิมเบี้ยน ปัจจุบันบริษัท PocketGear ผู้ทำธุรกิจสร้างแอปพลิเคชั่นสโตร์บนระบบปาล์มและวินโดวส์โมบาย ได้ขยายไลน์ทำตลาดแอปพลิเคชั่นสำหรับซิมเบี้ยนเพิ่มเติม
ด้านระบบ "แอนดรอยด์" จากกูเกิล ได้เปิดตลาดแอปพลิเคชั่นสำหรับแอนดรอยด์ไปแล้วเมื่อตุลาคมปีที่ผ่านมา ขณะที่ "แบล็กเบอร์รี่ แอปพลิเคชั่น เซ็นเตอร์" จากค่ายรีเสิร์ชอินโมชั่นปัจจุบันอยู่ในขั้น เชื้อเชิญให้เหล่านักพัฒนาส่งโปรแกรมมาร่วมโดยที่กำลังจะเปิดตัวในเดือน ต.ค.นี้
รวมถึง "ปาล์มซอฟต์แวร์สโตร์" ที่เปิดตัว เมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมี ประมาณ 2 พันแอปพลิเคชั่น และเกมอีกกว่า 1 พันเกม เพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดผ่านมือถือที่รองรับระบบปาล์มและวินโดวส์โมบาย
ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการมือถือ "ออเรนจ์" และ โอทู ต่างเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสโตร์ของ ตัวเองเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าการเปิดตัวดังกล่าวจะช่วยผลักดันความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์บนมือถืออย่างต่อเนื่อง
"ราฟ เดอ ลา เวก้า" ประธานและ ซีอีโอจากเอทีแอนด์ที โอเปอเรเตอร์ รายใหญ่ในสหรัฐกล่าวเตือนว่า เราจำเป็นที่จะต้องมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์ม, อุปกรณ์และระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันได้มากกว่าอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน และควรจะมีมาตรฐานเพื่อให้ นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชั่นที่มีลักษณะแมส เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นข้ามแพลตฟอร์มต่างๆ ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ที่มา:
http://www.matichon.co.th