ดาดี เพิร์ลมัตเตอร์ (Dadi Perlmutter)บรรยากาศบนเวทีเปิดงานอินเทล ดิเวลลอปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) ที่ซานฟรานซิสโกแฮสเวลล์เป็นโปรเซสเซอร์ตระกูลอินเทล คอร์ เจนเนอเรชั่น 4 อายุแบตเตอรี่คอมพิวเตอร์บางเฉียบตระกูลอัลตราบุ๊กกำลังจะถูกยืดให้ทนทานกว่าเดิม 2 เท่าตัว ด้วยชิปคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่จากอินเทล (Intel) ซึ่งเปิดตัวในชื่อสถาปัตยกรรมแฮสเวลล์ (Haswell) ชูคุณสมบัติกินไฟต่ำกว่าชิปตระกูลปัจจุบันอย่างไอวีบริดจ์ (Ivy Bridge) ขีดเส้นปีหน้า 2013 เริ่มวางจำหน่ายคอมพ์พีซีที่ใช้ชิปเร็วขึ้น-บางเบาลง-ลดความร้อน และมีระบบกราฟิกฝังอยู่ภายใน ดาดี เพิร์ลมัตเตอร์ (Dadi Perlmutter) รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายงานสถาปัตยกรรมชิปของอินเทล เปิดเผยบนเวทีเปิดงานอินเทล ดีเวลอปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) ที่ซานฟรานซิสโก ว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปสถาปัตยกรรมแฮสเวลล์รุ่นใหม่จะพร้อมวางตลาดในปีหน้า โดยชิปนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านกราฟิกและแอปพลิเคชันในอัลตราบุ๊กได้ เพราะแฮสเวลล์เป็นโปรเซสเซอร์ตระกูลอินเทล คอร์ เจเนอเรชัน 4 ซึ่งจะเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า แต่สามารถลดการใช้พลังงานมากกว่าชิปเจเนอเรชัน 2 อย่างแซนดีบริดจ์ราว 20 เท่าตัว
“เริ่มตั้งแต่ปี 2556 อินเทลมีแผนที่จะทยอยเปิดตัวโปรเซสเซอร์ที่กินไฟต่ำซึ่งใช้สถาปัตยกรรมแฮสเวลล์รวมทั้งสิ้น 11 ตัว”
อัลตราบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กประเภทใหม่ที่เน้นความบางและเบาเป็นพิเศษ แต่ราคาที่ยังสูงทำให้โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ยังไม่สามารถขยายตลาดในวงกว้าง ปัจจุบันตลาดคอมพิวเตอร์อัลตราบุ๊กมีจำนวนราว 70 รุ่นที่ติดตั้งชิปอินเทลไว้ภายใน ซึ่งอัลตราบุ๊กที่จะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 8 ในอนาคต หลายรุ่นจะมีการเพิ่มคุณสมบัติหน้าจอสัมผัส และทำให้ผู้ใช้สามารถดึงหน้าจอออกมาใช้งานแท็บเล็ตในบางโอกาส
ทั้งหมดนี้อินเทลระบุว่า ชิปแฮสเวลล์ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของอัลตราบุ๊กทุกแบบทุกสไตล์ และสามารถประหยัดพลังงานเพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถนำอัลตราบุ๊กไปใช้งานขณะเดินทางได้ดีขึ้น โดยชิปแฮสเวลล์บางรุ่นจะใช้พลังงานต่ำเพียง 10 วัตต์ แต่สามารถประมวลผลได้ในประสิทธิภาพเทียบเท่ากับชิปไอวีบริดจ์ปัจจุบันที่กินไฟ 17 วัตต์ ซึ่งหากคำนวณที่การใช้พลังงานระดับเดียวกัน อินเทลระบุว่าแฮสเวลล์จะประมวลผลด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าไอวีบริดจ์ 2 เท่าตัว
รายงานระบุว่า อินเทลจะแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์แฮสเวลล์ออกเป็น 2 ส่วนตามระดับพลังงานที่ต้องการใช้ที่ต่างกัน ได้แก่ รุ่นใช้งาน 10 วัตต์สำหรับอัลตราบุ๊กที่สามารถถอดหน้าจอมาใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้ และรุ่น 15-17 วัตต์ซึ่งจะใช้กับคอมพ์พีซีที่ต้องการประสิทธิภาพสูงมากกว่า โดยทั้ง 2 รุ่นยังอิงกับมาตรฐานเดียวกับอินเทลคอร์ และจะเริ่มเปิดตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2013 (ไม่ระบุช่วงเวลา)
เรื่องนี้ เคิร์ก สกูเจน (Kirk Skaugen) รองประธานและผู้จัดการทั่วไปธุรกิจพีซี กล่าวเพิ่มเติมว่า ชิปแฮสเวลล์ 10 วัตต์จะทำให้อัลตราบุ๊กในอนาคตที่สามารถถอดจอเพื่อทำงานเป็นแท็บเล็ตนั้นมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวกว่ารุ่นปัจจุบัน โดยขณะนี้สินค้ารุ่นท็อปสุดในกลุ่มนี้ติดตั้งชิปไอวีบริดจ์ที่กินไฟต่ำสุด 17 วัตต์เท่านั้น ทำให้โลกกำลังจะได้เห็นอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่าเดิมเกือบ 2 เท่าตัวในเร็ววัน
ปัจจุบันผู้ผลิตพีซีการันตีว่าอัลตราบุ๊กที่ใช้ชิปไอวีบริดจ์นั้นสามารถใช้งานต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง หรือสูงสุดที่ 10 ชั่วโมงในบางกรณี สำหรับชิปแฮสเวลล์ อายุแบตเตอรี่อาจจะเพิ่มเป็นมากกว่า 12 ชั่วโมง หรือในบางกรณีคือ 20 ชั่วโมงก็ได้
ในขณะที่ผู้บริหารอินเทลไม่เปิดเผยช่วงเวลาจำหน่ายสินค้าชิปแฮสเวลล์ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าสินค้ากลุ่มแฮสเวลล์จะวางตลาดได้ภายในช่วงกลางปี ที่สำคัญ ชิปใหม่ยังมีแนวโน้มทำให้เกิดนวัตกรรมสินค้าพกพารูปแบบใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตบางเฉียบที่มีอายุแบตเตอรี่สุดอึด
นอกจากแฮสเวลล์ ความท้าทายของอินเทลในวันนี้ยังอยู่ที่จุดยืนของชิปตระกูลอะตอม (Atom) ซึ่งใช้ในแท็บเล็ตและเน็ตบุ๊กตัวเล็กที่กินพลังงานต่ำกว่า 10 วัตต์เช่นกัน แต่มีคุณสมบัติประมวลผลไม่สูงเท่าชิปตระกูลคอร์ จุดนี้อินเทลจึงพัฒนาอะตอมเวอร์ชันใหม่ในชื่อรหัส “โคลเวอร์ เทรล (Clover Trail)” ซึ่งจะเป็นซิสเต็มส์ออนชิป (SoC) ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ Windows 8 โดยเฉพาะ และใช้กระบวนการผลิตขนาด 32 นาโนเมตร
บรรยากาศในงานอินเทล ดิเวลลอปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) ที่ซานฟรานซิสโก อินเทลหวังสร้าง Siri ให้อัลตราบุ๊ก งานนี้อินเทลเปิดตัวชุดพัฒนาระบบสั่งการอัลตราบุ๊กด้วยเสียง ซึ่งอาจทำให้ในอนาคตผู้ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางเฉียบสามารถเอ่ยปากสั่งการเครื่องได้แบบที่ Siri ทำได้บนไอโฟน
ผู้บริหารอินเทลอธิบายว่า รูปแบบการประมวลผลในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยเน้นการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อตอบสนองการทำงานของผู้ใช้ อินเทลจึงมุ่งมั่นนำเสนอคุณสมบัติเหล่านี้บนแพลตฟอร์มของอินเทลทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแจ้งเกิดเป็นชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบประมวลผลแบบสัมผัส ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งการอัลตราบุ๊กด้วยการเคลื่อนไหวและเสียงในชื่อ Intel Perceptual Computing Software Development Kit Beta
เพิร์ล มัตเตอร์เรียกร้องให้นักพัฒนาที่ร่วมประชุมใน IDF หันมาทำงานร่วมกับอินเทลเพื่อพัฒนาระบบสั่งการด้วยเสียงบนแพลตฟอร์มของอินเทล โดยอินเทลมีกำหนดการเปิดตัวชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบประมวลผลแบบสัมผัสนี้ในต้นไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สามารถพัฒนาระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวของร่างกาย ใบหน้า ระบบสั่งการด้วยเสียง รวมถึงความสามารถในการนำโลกเสมือนจริงสู่โลกแห่งความเป็นจริงบนระบบอัลตร้าบุ๊กและพีซีที่ใช้อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์รุ่นปัจจุบัน
Company Related Link :
Intel
ที่มา: manager.co.th