กสทช.คาดร่างประกาศเกี่ยวข้องกับการประมูล 3G ทั้งหมด จะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ ล่าสุดเปิดประชาพิจารณ์ อีก 3 ร่างประกาศ คือ อินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง - โรมมิ่ง - MVNO พร้อมเตรียมออกไลเซ่นส์ ทาวเวอร์โค ด้าน 'วิเชียร' เล็งจับมือดีแทคตั้งบริษัท ทาวเวอร์โค นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 23 ก.ค. กสทช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ร่างประกาศ กสทช.เรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ... (อินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง) ,ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. (โรมมิ่ง) ,และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ...(MVNO)
ทั้งนี้กสทช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั้ง 3 ร่างประกาศเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 28 ก.ค.55 และคาดว่าภายในเดือนส.ค.นี้ กสทช.จะสามารถนำร่างประกาศทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาต 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz ประกาศในราชกิจานุเบกษาได้
สำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค), บริษัท ทรูมูฟ, บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ได้เสนอเรื่องทาวเวอร์โค ว่าหากในอนาคต มีบริษัทเอกชน ที่ต้องการจะเป็นผู้ให้บริการทาวเวอร์โค จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 หรือไม่ และสำหรับผู้ที่จะเข้ามาเช่าช่วงต่อจากบริษัทเอกชนจะต้องขอใบอนุญาตหรือไม่ เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าว ไม่ได้ควบคุมสำหรับผู้ให้บริการเอกชนที่จะเป็นบริษัทให้บริการเสาเพียงอย่างเดียว
โดยตามร่างประกาศ ได้กำหนดแค่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแบบที่ 3 ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามกฏหมายว่าด้วยการให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้มีความรวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก ทีโอที, กสท เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทร คมนาคม พ.ศ.2544 บังคับใช้ เพื่อเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน
ดังนั้นบริษัทเอกชนที่ต้องการจะตั้งบริษัท ทาวเวอร์โค จะต้องขอใบอนุญาตประเภทที่ 3 เนื่องจากในร่างประกาศ ให้คำจำกัดความว่า เสา เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนั้นทีโอที กสท เป็นผู้ที่มีเสาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต แต่หากมีการเช่าช่วงต่อ ผู้ที่จะขอเช่าช่วงต่อจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ และในอนาคตกสทช.จะต้องออกเป็นใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดกฏเกณฑ์เกี่ยวกับไลเซ่นส์ของผู้ให้บริการทาว เวอร์โคอยู่
ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีความสนใจในประเด็น รูปแบบการตั้งบริษัทให้บริการเสาโทรคมนาคมสถานีฐาน หรือ ทาวเวอร์โค ว่าร่างประกาศดังกล่าว จะเข้าข่ายหรือไม่ หากเอไอเอสต้องการที่จะตั้งบริษัท เพื่อให้บริการทาวเวอร์โค เนื่องจาก มีความสนใจที่จะเข้าร่วมทุนกับ ดีแทค เพื่อจัดตั้งบริษัทให้บริการเสาโทรคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G โดยเฉพาะ
Company Relate Link :
กสทช.
AIS
ที่มา: manager.co.th