Author Topic: พีซีโลคอลแบรนด์ วิ่ง สู้ ฟัด ......เดียวดาย  (Read 1254 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่



จะร้อน จะฝน จะหนาว อุตสาหกรรมการผลิตพีซีแบรนด์ไทยผ่านมาแล้วหลายรอบ ล้มบ้าง ลุกบ้างตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษ

จากเตาะแตะเอกชน-รัฐร่วมมือวิจัยพัฒนาสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกสู่ตลาด ทำโรงงานย่อมๆ แล้วก็หายไป เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน โอกาสทางธุรกิจน้อย


 ผ่านมาถึงยุคที่คอมพิวเตอร์แบรนด์ไทยผุดขึ้นเต็มตลาด แข่งขันดุเดือดด้วยส่วนต่างราคาจากอินเตอร์แบรนด์ 30-40% เพิ่มทางเลือกลูกค้า หากวันนี้ก็แผ่วหาย เหลือแบรนด์หลักๆ อยู่ไม่กี่เจ้า


 ไปสำรวจตลาดโมเดิร์นเทรดก็จะเห็นเอสวีโอเอ และเลอเมล ที่เบียดแข่งชิงพื้นที่อินเตอร์แบรนด์อยู่ แต่ถ้าเป็นงานประมูลภาครัฐจะปรากฎชื่อสุพรีม ดีคอม และเอ็มพีพีบ้าง


 เกิดอะไรขึ้นกับตุ๊กตาล้มลุก "พีซีโลคอลแบรนด์" ที่บางรายก็ปิดกิจการลง หรือคงไว้เพียงชื่อบริษัทไม่มีสินค้าออกทำตลาด และบางรายก็ต้องนำอินเตอร์แบรนด์มาเสริมทัพเพิ่มความแกร่งองค์กร

 

รายเล็กรอดยาก
 แหล่งข่าววงการผลิตพีซีโลคอลแบรนด์ กล่าวว่า ตลาดนี้มีแต่จะหด ขึ้นกับจะประคองได้นานแค่ไหน ผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงจะได้เปรียบ ไม่จำกัดว่าจะเป็นอินเตอร์แบรนด์ หรือโลคอลแบรนด์ ส่วนรายเล็กถ้าพลาดเพียงนิดเดียวก็หมดสิทธิ์รอด เพราะ"ห้ามเลือด"ที่"บาดแผล"ไม่ได้


 อย่างไรก็ตาม รายใหญ่ก็มักเป็นอินเตอร์แบรนด์ ที่มี"กำลัง"ทำผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น สามารถลงทุนสูงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ทำราคาได้ไม่แตกต่าง


 ยิ่งปัจจุบันหวังพึ่งตลาดราชการได้ยากขึ้น เพราะตลาดใหญ่ที่เป็นความหวังนี้ ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ใช้กันมากแล้ว 70-80% ของความต้องการโดยจัดซื้อเมื่อ 2-3 ปีก่อน จึงยังไม่ถึงเวลาซื้อทดแทน ยิ่งสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้การใช้งานเครื่องอาจเพิ่มเป็น 5-10 ปี จากเดิมที่อาจเปลี่ยนภายใน 3-5 ปี การลงทุนจะไปอยู่ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพงาน ปรับปรุงระบบจากอุปกรณ์ที่มีอยู่ ฉะนั้น ฝั่งซอฟต์แวร์ และบริการจะได้เปรียบ


 "ผู้ที่อยู่ในตลาดได้ ต้องเป็นเบอร์ 1 หรือ 2 อย่างมากก็เบอร์ 3 ลำดับอื่นๆ ล้วนเผชิญความยากลำบากหมด ผู้ที่เป็นรายใหญ่ก็ชิงตลาด ลดราคา ทำมาร์เก็ตติ้งแรงๆ ดึงดูดกำลังซื้อยุคดีมานด์ถดถอย"


 แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่มีผู้ระบุว่าตลาดไทยยังมีช่องว่างจากจำนวนประชากรต่อคอมพิวเตอร์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว แต่สภาวะที่เป็นจริงคือ ผู้ที่มีกำลังซื้อนั้น ได้ซื้อไปหมดแล้ว ส่วนผู้ไม่มีกำลังซื้อแม้จะขายอย่างไรก็ไม่มีทางซื้อแน่นอน ฉะนั้น เมื่อผสมผสานกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ จึงเชื่อว่า ปีนี้ตลาดพีซีจะไม่เติบโต

 

รัฐไม่มีมาตรการหนุน
 นอกจากนั้น ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการหนุนช่วยจากภาครัฐ ต่างจาก 3-5 ปีก่อนที่มีมาตรการต่างๆ ออกมาบ้าง ผู้ผลิตไทยจึงแข่งขันกับอินเตอร์แบรนด์ที่มีพัฒนาการ และดีไซน์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ได้


 "มาถึงตอนนี้ก็เยียวยายากแล้ว มองโดยภาพรวม รายเล็กต้องหาที่อยู่ใหม่ บุคลากรไอทีที่มีศักยภาพในตัวเองขององค์กรเหล่านี้ก็ต้องนำศักยภาพไปทำอย่างอื่นให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพราะถ้ามัวจมปลักอยู่ก็สูญเสียไปเปล่า"


 ด้านนายนิธิพัฒน์ ลิ่มวานิชรัตน์ อดีตผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า เขาได้ลาออกจากบริษัทตั้งแต่เดือนพ.ย. 2551 โดยไปทำกิจการส่วนตัว เป็นห้องร้องเพลงติดตั้งที่หอพักต่างๆ เช่น ม.หอการค้า ม.กรุงเทพ รังสิต เป็นต้น


 ขณะที่นายกษิณ อร่ามเสรีวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพเวล คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เซ็นสัญญากับบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องพีซี และโน้ตบุ๊ค เป็นกลยุทธ์ขยายฐานธุรกิจไปยังอินเตอร์แบรนด์ จากตลาดคอมพ์ยี่ห้อในประเทศ กลุ่มคอนซูเมอร์ไม่เติบโต


 แหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ตลาดคอมพิวเตอร์ยังอยู่ เพียงแต่ว่า จะประยุกต์ไปใช้ทำอะไรอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่า หากช่วงนี้สถานการณ์ทั่วโลกอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง ไม่มีเคลื่อนไหวอะไรใหม่ๆ ที่สร้างความ"ต่าง"อันโดดเด่นอย่างแท้จริง ทั้งฟากฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ฉะนั้น จึงต้องรออนาคต


 หากปัจจุบันรัฐบาลมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าเข้ามากลบการสนับสนุนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้ประกอบการคงต้องรออีกระยะ ซึ่งใครที่สายป่านยาว มีช่องทางทำตลาดก็อาจอยู่ได้ แต่ผู้ไม่ชำนาญ ไม่รู้จริง และไม่คอมมิตต่อการทำธุรกิจระยะยาวก็จำเป็นต้องจากไป

 

หดช่องว่างราคา
 แล้วเกิดอะไรขึ้นกับพีซี โลคอลแบรนด์ อยู่ๆ ก็หายไป นายประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทร โปรเฟสชั่นแนล โปรดักส์ จำกัด (เอ็มพีพี) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์เข้าง่าย ออกง่าย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีผู้ประกอบการเข้ามามาก กระทั่งการผลิตพีซีห้องแถว แบรนด์หลากหลายให้เลือก แต่ถึงตอนนี้ก็หายไปพอสมควรเหลือหลักๆ อยู่ไม่กี่ราย


 จากช่วงหนึ่งที่ภาครัฐเปิดกว้างสนับสนุนการผลิต มีเพียงมาตรฐานไอเอสโออย่างเดียวคอยกำกับ แต่วันนี้ผ่านระยะเวลาเติบโตสูงสุดไปแล้ว


 "กระแสยอมรับโลคอลแบรนด์มีครั้งที่เนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ผลักดันคอมพิวเตอร์ไทยมาตรฐานเนคเทค แล้วยังมีช่วงนโยบายคอมพิวเตอร์ไอซีที ยุคน.พ.สุรพงษ์ (สืบวงศ์ลี) ต่อยอดการเติบโตได้ แถมยังสร้างแรงกดดันให้อินเตอร์แบรนด์ปรับราคาลงแข่ง ทำให้ผู้ใช้ซื้อได้"


 ดังนั้น จากอดีตที่ราคาต่างกัน 30-40% มาถึงวันนี้ราคาห่างเพียง 10-15% แต่ก็เป็นเหตุให้ผู้มีกำลังซื้อหันไปเลือกอินเตอร์แบรนด์มากกว่าด้วยชื่อเสียงระดับโลก ยกเว้นตลาดบางส่วนที่นิยมเครื่องประกอบเอง (ดีไอวาย) ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)