บอร์ดทีโอทีเล็งพิจารณาตั้ง 3 บริษัทลูกหวังช่วยรองรับหลังหมดสัปทาน ประธานบอร์ดเผยความคืบหน้าล่าสุดการติดตั้งขยายโครงการ 3G คาดจะแล้วเสร็จเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ 5,320 แห่ง นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดทีโอทีวันนี้ (14 มิ.ย.) จะมีวาระการพิจารณาเรื่องการตั้งบริษัทลูกใหม่ของทีโอที 3 บริษัท ได้แก่ 1.เน็ตเวิร์ก คัมพะนี 2.ไฟเบอร์ และทรานมิชชั่น คัมพะนี และ 3.แอปพลิเคชั่น คัมพะนี ซึ่งการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมานั้นถือเป็นแนวทางการดำเนินงานตามแผนธุรกิจเพื่อรองรับสัมปทานที่กำลังจะหมดลงในปี 2558 ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ (เอไอเอส) รวมถึงรายได้หดหายจากสัมปทานในปี 2556 ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.)
ทั้งนี้บริษัทใหม่ 3 บริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นมานั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานตามนโยบายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ได้สั่งให้ทีโอทีจัดทำร่างแผนงาน เพื่อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ซึ่งการตั้งบริษัทลูกนั้น ทีโอทีจะถือหุ้น 100% ในช่วง 1-2 ปีแรก จากนั้น จะค่อยลดสัดส่วนหุ้นให้เหลือไม่เกิน 49% เพื่อนำเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้บริษัทใหม่ดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่แยกเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ของทีโอที หรือตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ เพราะตามกฎหมายทีโอทีไม่มีอำนาจดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว จะดูแล และบริหารงานด้านเสาโทรคมนาคม สถานีฐาน ที่ได้รับมอบจากเอไอเอสตามสัญญาสัมปทานจำนวน 14,000 แห่ง แบ่งเป็นตามสัมปทานสร้าง-โอน-บริหาร (BTO) จากเอไอเอสจำนวน 12,000 แห่ง และของทีโอทีเอง 2,000 แห่ง และทรัพย์สินที่ได้รับจากทีทีแอนด์ทีด้วย
นายพันธ์เทพ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการติดตั้งขยายโครงการโทรศัพท์มือถือ 3G ในย่าน 1900 MHz ที่มีความล่าช้าว่าในตอนนี้มีการติดตั้งเสาสถานีฐานเพิ่มเติมจำนวน 1,000 แห่ง ที่บรรลุข้อตกลงในการโค-ไซต์กับบริษัท ทรูมูฟ และอีกส่วนหนึ่งได้กิจการร่วมค้าเอสแอล คอมซอร์เตียม เป็นผู้ดำเนินการจัดหามาให้ ซึ่งจะทำให้ทีโอทีมีสถานีฐาน 3G เพิ่มเป็น 3,000 แห่ง จากปัจจุบันทีโอทีมีสถานีฐานให้บริการเพียง 1,800 แห่ง ส่วนจำนวนสถานีฐานที่จะให้บริการจะครบทั้งสิ้น 5,320 แห่ง น่าจะแล้วเสร็จในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้
"บอร์ดทีโอที และผู้บริหารระดับสูง ยอมรับในการดำเนินการที่ผิดพลาด และไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อาทิ จำนวนสถานีฐานที่พร้อมให้บริการ การใช้โครงข่ายร่วม (โค-ไซต์) กับผู้ประกอบการเอกชน และการทำตลาดของทีโอทีเอง แต่อย่างไรก็ดีในเมื่อมีการอนุมัติกรอบแผนการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงิน 16,999 ล้านบาทแล้ว ทีโอทีก็จำเป็นต้องดำเนินงานตามแผนที่ได้รับอนุมัติจำนวน 5,320 สถานีฐาน"
Company Relate Link :
TOT
ที่มา: manager.co.th