วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น
กลุ่มสามารถลุย MVNO 3G TOT รอบใหม่ รีลอนซ์แบรนด์ i-Mobile 3GX พร้อมเปิดบริการโรมมิ่งเดือนมิ.ย.หลังเครือข่ายพร้อมให้บริการ ตั้งเป้าสิ้นปีลูกค้า 7 แสนราย ส่วนผลประกอบการไตรมาสแรกฟันกำไร 268 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 65%
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้บริษัท สามารถไอ-โมบาย จะมีการรีลอนซ์แบรนด์ i-Mobile 3GX ที่ใช้ทำตลาดขายต่อบริการบนโครงข่ายเสมือน (MVNO) ของบริการ 3G TOTโดยจะมีการออกแบบโปรโมชันสำหรับแพกเกจใหม่ รวมไปถึงเปิดบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (อินเตอร์เนชันแนล โรมมิ่ง) ซึ่งจะเป็นการเปิดให้บริการMVNOเต็มรูปแบบ หลังจากที่ประสบปัญหาเรื่องการขยายเครือข่าย 3G ของทีโอทีที่ล่าช้ากว่าตามสัญญาที่จะต้องเสร็จภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้จำนวน 5 พันกว่าสถานีฐาน แต่ได้รับการขยายสัญญาออกไปอีก 6 เดือนเนื่องจากเจอปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
'เวลานี้ เรามีผู้ใช้บริการจริงประมาณ 1 แสนราย ขณะที่มีผู้เปิดเบอร์ใช้บริการอยู่ประมาณ 2.2 แสนราย แต่หลังจากรีลอนซ์แบรนด์ใหม่แล้ว สิ้นปีนี้น่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 แสนราย'
สำหรับการติดตั้งสถานีฐาน 3G ของทีโอทีปัจจุบันประมาณ 1,700 สถานีฐานแล้ว และในเดือนมิ.ย.จะเพิ่มเป็น 3,000 สถานีฐาน และไตรมาส 4 จะเพิ่มเป็น 5,300 กว่าสถานีฐานครบตามสัญญา ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 16 จังหวัดโดยอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 1,000 สถานีฐาน ซึ่งถือว่า มีพื้นที่ครอบคลุมเพียงพอกับการให้บริการ จึงได้มีการที่จะเปิดตัวแผนการทำตลาดใหม่อีกครั้ง พร้อมกับที่จะมีการเปิดตัวบริการโรมมิ่งเครือข่ายกับต่างประเทศด้วย
'ด้วยจำนวนสถานีฐานที่มีอยู่ถือว่า สามารถให้บริการได้ดีพอสมควรแล้ว เราไม่ได้มองว่าซิม 3GX จะเป็นซิมแรก แต่เราขอเป็นซิมที่ 2 สำหรับใช้งานดาต้า ถ้าพูดถึงคุณภาพการให้บริการแล้วของเราดีกว่าเครือข่ายของคนอื่นแน่'
ทีมผู้บริหารสามารถฯ ผู้ผลักดันผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มสามารถจนมีรายได้รวมเกิน 4 พันล้านบาท
นายวัฒน์ชัย ย้ำว่า เครือข่าย 3G TOTในเฟสที่สองที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้นั้น ทีโอทีน่าจะมีการขยายสถานีฐานไม่น้อยกว่าในเฟสแรกอย่างแน่นอน เพราะเป็นความอยู่รอดของทีโอที ซึ่งมาถึงจุดที่ไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกแล้ว ซึ่งเครือข่าย 3G TOT น่าจะมีประมาณ 15,000 สถานีฐาน พอกับๆ กับของเอไอเอส ดีแทค ถึงจะเป็นเน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์ได้
ส่วนผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มสามารถมีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% คิดเป็นกำไรสุทธิ 268 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันถึง 65% โดยในกลุ่มธุรกิจไอซีที โซลูชันนั้น บริษัท สามารถเทลคอม รายได้ 2,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 65% มีกำไรสุทธิ 151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เป็นผลจากการรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ TOT 3G /School Net /AOT CUTE/ AMR Phase II ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปี 55 มีโครงการที่ประมูลได้เพิ่มเติมทั้งที่เป็นโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ มูลค่ารวม 588 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถเทลคอมมีโครงการในมือแล้ว 8,772 ล้านบาท
สายธุรกิจโมบาย มัลติมีเดีย ที่นำโดย บริษัท สามารถไอ-โมบาย มีรายได้รวม 1,599 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25 ล้านบาทเทียบกับไตรมาส 4 ปี 54 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งรายได้และกำไร สาเหตุหลักมาจากยอดขายโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และราคาขายเฉลี่ยต่อเครื่องที่เพิ่มขึ้นบวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจคอนเทนต์ ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตถึง 20%
ส่วนสายธุรกิจ Related Businesses โดยบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ ในไตรมาสแรก ได้มีการเซ็นสัญญาให้บริการแก่สายการบินบางกอกแอร์เวย์เป็นระยะเวลา 3 ปี อีกทั้งยังมีงานที่อยู่ในระหว่างการเจรจาอีกหลายโครงการ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเท่าตัวในปีนี้ ส่วนบริษัท วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม ที่ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจรแก่องค์กรขนาดใหญ่ มีแผนในการเข้าประมูลโครงการต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะประสบความสำเร็จไม่ต่ำกว่า 80% และมีรายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน
สายธุรกิจ Utility Services โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส มีรายได้เพิ่มราว 20% ตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีรายได้ประจำจากบริษัท Kampot Power Plant ผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนแก่โรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่ประเทศกัมพูชา อีกราวไตรมาสละ 50 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจทางด้านการจราจรทางอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และลาว
Company Related Link :
Samart
ที่มา: manager.co.th