เอชพี พลิกโฉมวงการเซิร์ฟเวอร์ ส่ง HP ProLiant Gen8 เซิร์ฟเวอร์อัจฉริยะทำงานและรักษาตนเองอัตโนมัติ ระบุความต้องการในไทยไม่เคยหยุด เชื่อตลาดปีนี้โต 5-6% นายมารุต มณีสถิตย์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มผลิตภัณฑ์ เอ็นเทอร์ไพรส์ เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ และเน็ตเวิร์กกิ้ง บริษัท เอชพี ประเทศไทย กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในระบบดาต้าเซ็นเตอร์ขององค์กรในเวลานี้เพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากความซับซ้อนของโซลูชันต่างๆ ที่เกิดขึ้น แถมยังมีความไม่แน่นอนจึงกลายเป็นปัญหาที่องค์กรต่างๆ ต้องการให้เอชพีเข้ามาช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง ระบบไอทีได้กลายเป็นอาวุธเชิงกลยุทธขององค์กรธุรกิจไปแล้ว และเอชพีซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ดังกล่าว ดังนั้นเอชพีจึงคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเซิร์ฟเวอร์ให้ฉลาดขึ้น เพื่อทำให้เซิร์ฟเวอร์สามารถดูแลและควบคุมการทำงานด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องมีคนเข้าไปคอยจัดการ
เอชพีจึงได้มีการจัดทำโครงการในการปฏิรูปตลาดเซิร์ฟเวอร์ที่ทำตลาดมานานของเอชพี ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อโครงการ Moonshot ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างเซิร์ฟเวอร์ให้มีประสิทธิภาพในการประมวลแบบประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุด และตามมาด้วยโครงการ Odyssey ซึ่งเป็นการดำเนินงานระยะที่ 2 โดยมุ่งปรับเปลี่ยนอนาคตของระบบประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญระดับ mission-critical และในปีนี้ เอชพีได้เริ่มโครงการ Voyager ซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 3 ในการยกระดับกระบวนการทำงานทุกด้านของเซิร์ฟเวอร์ให้เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด
ล่าสุดเปิดตัวเซิร์ฟเวอร์ HP ProLiant Gen 8 ภายใต้โครงการ Voyager ที่มีการคิดค้นและพัฒนาระบบดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ ด้วยงบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 2 ปี เพื่อยกระดับระบบการทำงานต่างๆ ของเซิร์ฟเวอร์ให้เป็นระบบอัตโนมัติตลอดอายุการใช้งาน จนถึงขณะนี้ โครงการ Voyager ได้รับสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ต่างๆ รวมกว่า 900 รายการ ทั้งยังพัฒนาสถาปัตยกรรมใหม่ที่มีชื่อว่า HP ProActive Insight ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบผนวกของเอชพี
สถาปัตยกรรม HP ProActive Insight ประกอบด้วยระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ให้มีกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติทั้งหมด ทั้งยังเพิ่มการทำงานอัจฉริยะทำให้เซิร์ฟเวอร์มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การใช้ไฟฟ้าประหยัดขึ้น และยังมีสมรรถนะในการวินิจฉัยที่สำคัญต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้การอัปเดทบนระบบออนไลน์สามารถทำได้เร็วขึ้น 3 เท่า และลดช่วงเวลาที่หยุดการทำงานของระบบถึง 93% ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์ HP ProLiant Gen8 ช่วยแก้ปัญหาข้อวิตกกังวลขององค์กรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
'เซิร์ฟเวอร์ที่เป็นเจน 8 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มของสถาปัตยกรรมเซิร์ฟเวอร์ของเอชพีและเป็นตำนานหน้าแรกวงการเซิร์ฟเวอร์ในอุตสาหกรรมไอที ที่เซิร์ฟเวอร์สามารถทำงานอัตโนมัติด้วยตนเอง'
นายมารุต ยังกล่าวอีกว่า ความต้องการเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยนั้นเติบโตได้อีกมาก ถึงแม้ว่าในปีที่แล้ว จะเกิดปัญหาการชลอตัวไปบ้าง โดยเฉพาะปัญหาขาดฮาร์ดดิสก์ในตลาด ซึ่งเป็นผลจากโรงงานในประเทศไทยถูกน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งทำให้ตลาดในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ดูเงียบๆ ไปบ้าง แต่หลังจากที่กำลังการผลิตฮาร์ดดิกส์กลับมาสู่ภาวะปกติ ก็จะทำให้ตลาดเซิร์ฟเวอร์เริ่มกลับมา
'จากตัวเลขไอดีซีที่คาดว่า ตลาดเซิร์ฟเวอร์ในปีนี้จะเติบโตประมาณ 5-6% บ่งบอกชัดเจนว่า ความต้องการเซิร์ฟเวอร์ในบ้านเราไม่เคยหยุด'
Company Relate Link :
HP
ที่มา: manager.co.th